หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

มองฟ้าปะดิน

แรกมองฟ้า  ก็เห็นว่าง  อย่างเขาว่า
ไม่เห็นพวก  เทวดา  คลาสวรรค์
ยิ่งมองไป  ยิ่งว่างมา  สารพัน
จิตใจมั่น  ยิ่งเห็นว่าง  อย่างสุดใจ

กลับได้เห็น  สาระหนึ่ง  ซึ่งความว่าง
มอบให้อย่าง  แก่นสาร  ปานดินใหม่
เป็นแผ่นดิน  เย็นและหยุด  กว่าจุดใด
ทรงคุณใหญ่  เรียก  "อมตะ  มหานคร"

เป็นที่ตั้ง  เย็นสนิท  แห่งจิตว่าง
กิเลสสร้าง  ทุกข์หาย  ไร้โศกศร
เป็นแดนดิน  ที่คงมั่น  นิรันดร
นี่แลตอน  ที่มองฟ้า  แล้วปะดินฯ

เมื่อมองดินเห็นฟ้า

เมื่อมองดิน  เห็นฟ้า  นิจจาเอย
มองเห็นฟ้า  ดินใหญ่  กระไรเลย
ฉันจะเอ่ย  ฟังดูหนา  บ้าหรือดี?

คือมองโลก  เห็นว่าง  จากอัตตา
ว่างจากอัต-  ตนียา  อย่างเต็มที่
มันว่างจริง  ยิ่งกว่าฟ้า  เพราะว่ามี
สิ่งหนึ่งที่  เรียกมหา-  สุญญตา

ครั้นมองดู  โลกว่าง  อย่างแท้จริง
ก็เห็นสิ่ง  ที่เรียก  ว่ามหา-
อมฤต  นคร  ซ้อนอยู่นา
นี้เรียกว่า  มองฟ้า  แล้วปะดิน

คิดดูเถิด  บ้าหรือดี  มีให้ดู
ถ้าไม่เห็น  อย่าเพ่อจู่  มาติฉิน
ถ้าจะมั่ว  อยู่ที่เห็น  ดินเป็นดิน
ก็ดูดกิน  มันไป  เป็นไส้เดือนฯ

ตาบอด-ตาดี

หมู่นกจ้อง  มองเท่าไร  ไม่เห็นฟ้า
ถึงฝูงปลา  ก็ไม่เห็น  น้ำเย็นใส
ไส้เดือนมอง  ไม่เห็นดิน  ที่กินไป
หนอนก็ไม่  มองเห็นคูถ  ที่ดูดกิน;

คนทั่วไป  ก็ไม่  มองเห็นโลก
ต้องทุกข์โศก  หงุดหงิด  อยู่นิจสิน
ส่วนชาวพุทธ  ประยุกต์ธรรม  ตามระบิล
เห็นหมดสิ้น  ทุกสิ่ง  ตามจริงเอยฯ

จะดูโลกแง่ไหนดี?

จงดูเถิด  โลกนี้  มีหลายแง่
ดูให้แน่  น่าสรวล  เป็นชวนหัว
หรือชวนเศร้า  โศกสลด  ถึงหดตัว
ดูให้ทั่ว  ถ้วนความ  ตามแสดง

จะดูมัน  แง่ไหน  ตามใจเถิด
แต่ให้เกิด  ปัญญา  มาเป็นแสง
ส่องทางเดิน  ชีวา  ราคาแพง
อย่าให้แพลง  พลาดพลั้ง  ระวังเอยฯ

โลกเปรียบมหาสมุทรและกรงไก่

โลกนี้เปรียบ  ปานว่า  มหาสมุทร
ปลามนุษย์  ผุดว่าย  อยู่ไหวไหว
เพราะตัณหา  หมื่นวิถี  เข้าจี้ใจ
วิ่งขวักไขว่  เหยื่อดี  มีไม่พอ!

โลกนี้คือ  กรงไก่  เขาใส่ไว้
จะนำไป  แล่เนื้อ  ไม่เหลือหลอ
จิกกันเอง  ในกรง  ได้ลงคอ
เฝ้าตั้งข้อ  รบกัน  ฉันนึกกลัว

โลกคือเครื่องลองและโรงละคร

โลกนี้คือ  เครื่องลอง  ของมารร้าย
ไว้สอบไล่  ว่าใคร  ยังหลงใหล
ว่าใครบ้า  ใครเขลา  เฝ้าจมใน
หล่มโลกใหญ่  ติดตัง  ทั้งดีชั่ว

โลกนี้  ที่แท้คือ  โรงละคร
ไม่ต้องสอน  แสดงถูก  ทุกวิถี
ออกโรงกัน  จริงจัง  ทั้งตาปี
ตามท่วงที  อวิชชา  ลากพาไป!

โลกนี้คือทางผ่านและบทเรียน

โลกนี้เหมือน  ทางผ่าน  ที่รกเลี้ยว
เพื่อทนสู้  อดเปรี้ยว  ไปกินหวาน
พ้นโลกนี้  มียิ่ง  กว่าอ้อยตาล
เมื่อพบพาน  "อมฤ-  ตโลกา!"

โลกนี้เพียง  บทเรียน  ให้เพียรอ่าน
หมั่นวิจารณ์  ตื้นลึก  รีบศึกษา
ให้รอบรู้  แจ่มจน  พ้นมายา

แล้วโลกมา  เป็นบ่าว  เราร่ำไป

โลกนี้น่าขำ

โลกนี้มี  แต่คนบ้า  ไม่น่าอยู่
จนมองดู  ให้ดีดี  มีข้อขำ
คือตัวกู  ที่เกิดอยู่  เป็นประจำ
จงกระทำ  อย่าให้เกิด  ประเสริฐแล

อย่าปล่อยให้ อารมณ์ใด  เข้ามาปรุง
เป็นจิตยุ่ง  วุ่นวาย  หลายกระแส
ว่างตัวกู  จิตก็อยู่  เหนือโลกแท้
ว่างกูแน่  ก็หยุดบ้า  น่าขำเอยฯ

โลกนี้คืออะไรแน่?

โลกนี้คือ  ถ้ำมืด  ไม่เห็นแสง
ไม่มีความ  แจ่มแจ้ง  ไม่เฉลียว
คิด-พูด-ทำ  โมหา  ไปท่าเดียว
ลองคิดเที่ยว  โลกสว่าง  ข้างหน้ากัน!

โลกนี้คือ  ร่มไม้  ได้อาศัย
บัดเดี๋ยวใจ  พักร้อน  แล้วผ่อนผัน
ออกไปสู่  โลกอื่น  อีกหมื่นพัน
ไยยึดมั่น  หมายมี  โลกนี้นาน!

โลกเปรียบศาลาให้อาศัย

โลกนี้เปรียบ  ศาลา  ให้อาศัย
ประเดี๋ยวใจ  ผ่อนพัก  แล้วจักผัน
ทางที่ดี  เมื่อพราก  ไปจากมัน
ควรสร้างสรร  ส่งเสริม  เพิ่มคะแนน

เมื่อเราได้  เกิดมา  ในอาโลก
ได้พ้นโศก  พ้นภัย  สบายแสน
จึงควรสร้าง  สิ่งชอบ  ไว้ตอบแทน
ให้เป็นแดน  ดื่มสุข  ขึ้นทุกกาล

คุณความดี  ของท่าน  กาลก่อนก่อน
ที่ท่านสอน  ไว้ประจักษ์  เป็นหลักฐาน
เราเกิดมา  อาศัย  ได้สำราญ
ควรหรือผ่าน  พ้นไป  ไม่คำนึงฯ

มองถูก ทุกข์คลาย

มองอะไร  ให้เห็น  เป็นครูสอน
มองไม้ขอน  หรือมองคน  ถ้าค้นหา
มีสิ่งสอน  เสมอกัน  มีปัญญา
จะพบว่า  ล้วนมีพิษ  อนิจจัง

จะมองทุกข์  หรือมองสุข  มองให้ดี
ว่าจะเป็น  อย่างที่  เรานึกหวัง
หรือเป็นไป  ตามปัจจัย  ให้ระวัง
อย่าคลุ้มคลั่ง  จะมองเห็น  เป็นธรรมดา

มองโดยนัย  ให้มันสอน  จะถอนโศก
มองเยกโยก  มันไม่สอน  นอนเป็นบ้า
มองไม่เป็น  จะโทษใคร  ที่ไหนมา
มองถูกท่า  ทุกข์ก็คลาย  สลายเองฯ

มอง-มอง-มอง

มองอะไร  มองให้เห็น  เป็นครูสอน
มองไม้ขอน  หรือมองคน  มองค้นหา
มองเห็นความ  เสมอกัน  มีปัญญา
มองเห็นว่า  ล้วนมีพิษ:  อนิจจัง

มองทุกข์สุข  ก็จงจ้อง  มองให้ดี
มองว่าเป็น  อย่างที่  คนเราหวัง
มองว่าเป็น  ตามปัจจัย  ให้ระวัง
มองจริงจัง  ก็จักเห็น  เป็นธรรมดา

มองโดยนัย  ที่มันสอน  จะถอนโศก
มองเยกโยก  มันไม่สอน  ร้อนเป็นบ้า
มองไม่เป็น  โทษผีสาง  นางไม้มา
มองถูกท่า  ไม่คว้าทุกข์:  มองถูกจริง!

มองแต่แง่ดีเถิด

เขามีส่วน  เลวบ้าง  ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา  ส่วนที่ดี  เขามีอยู่
เป็นประโยชน์  โลกบ้าง  ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว  อย่าไปรู้  ของเขาเลย;

จะหาคน  มีดี  โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว  ค้นหา  สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา  หนวดเต่า  ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย  มองแต่ดี  มีคุณจริงฯ

การพึ่งผู้อื่น

อันพึ่งท่าน  พึ่งได้  แต่บางสิ่ง
เช่นพึ่งพิง  ผ่านเกล้า  เจ้าอยู่หัว
หรือพึ่งแรง  คนใช้  จนควายวัว
ใช่จะพ้น  พึ่งตัว  ไปเมื่อไร

ต้องทำดี  จึงเกิดมี  ที่ให้พึ่ง
ไม่มีดี  นิดหนึ่ง  พึ่งเขาไฉน?
ทำดีไป  พึ่งตัว  ของตัวไป
แล้วจะได้  ที่พึ่ง  ซึ่งถาวร

พึ่งผู้อื่น  พึ่งได้  แต่ภายนอก
ท่านเพียงแต่  กล่าวบอก  หรือพร่ำสอน
ต้องทำจริง  เพียรจริง  ทุกสิ่งตอน
นี้,จึงถอน  ตัวได้  ไม่ตกจม

จะตกจน  หรือว่าจะ  ตกนรก
ตนต้องยก  ตนเอง  ให้เหมาะสม
ตนไม่ยก,  ให้เขายก  นั้นพกลม:
จะตกหล่ม  ตายเปล่า  ไม่เข้าการฯ