หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

ปรมัตถธรรมกลับมา


ปรมัตถธรรมกลับมา  โลกาสว่างไสว
ปรมัตถธรรมหมดไป  จิตใจมืดมนท์
มัวเป็นกันแต่คน  มนุษย์ก็ไม่มี
ศีลธรรมดีคนก็กลาย  เป็นมนุษย์กันหมด

ศีลธรรมถอยถด  ต้องเพิ่มปรมัตถธรรม
คนทำบาปกรรม  เพราะโลกขาดสัมมาทิฏฐิ
คนมีสติ  ย่อมดำริโดยแนวแห่งปรมัตถ์

เป็นมนุษย์หรือเป็นคน?

เป็นมนุษย์  เป็นได้  เพราะใจสูง
เหมือนหนึ่งยูง  มีดี  ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ  เป็นได้  แต่เพียงคน
ย่อมเสียที  ที่ตน  ได้เกิดมา

ใจสะอาด ใจสว่าง  ใจสงบ
ถ้ามีครบ  ควรเรียก  มนุสสา
เพราะทำถูก  พูดถูก  ทุกเวลา
เปรมปรีดา  คืนวัน  สุขสันต์จริง

ใจสกปรก  มืดมัว  และร้อนเร่า
ใครมีเข้า  ควรเรียก  ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด  ทำผิด  จิตประวิง
แต่ในสิ่ง  นำตัว  กลั้วอบาย

คิดดูเถิด  ถ้าใคร  ไม่อยากตก
จงรีบยก  ใจตน  รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง  เสียได้  ก่อนตัวตาย
ก็สมหมาย  ที่เกิดมา;  อย่าเชือนเอยฯ

ไม่รู้จักหน้าที่

เกิดเป็นแมว  ทำไมนี่  ขี้เกียจหา
เกิดเป็นหมา  ทำไมนี่  ขี้เกียจหอน
เกิดเป็นหมู  ทำไมนี่  ขี้เกียจนอน
เกิดเป็นหนอน  ทำไมนี่  ขี้เกียจคลาน

เกิดเป็นงู  ทำไมนี่  ขี้เกียจเลื้อย
เกิดเป็นเลื่อย  ทำไมนี่  ไม่หนีขวาน
เกิดเป็นขุน  ทำไมนี่  ไม่มีคาน
เกิดเป็นห่าน  ทำไมนี่  ขึ้เกียจฮ้อง

เกิดเป็นพระ  ทำไมนี่  ดีแต่ขอ
เกิดเป็นหมอ  ทำไมนี่  ดีแต่ถอง
เกิดเป็นครู  ทำไมนี่  ดีแต่ท่อง
เกิดเป็นอ๋อง  ทำไมนี่  ดีแต่เออฯ

ความรักของอวิชชา


มีชายหนึ่ง  ลิงหนึ่ง  อยู่ด้วยกัน
คนก็รัก  ลิงนั้น  เป็นหนักหนา
ลิงก็รัก  คนจัด  เต็มอัตรา
ทั้งสองเรา  รักกัน  นั้นเกินดู

มาวันหนึ่ง  คนนั้น  นอนหลับไป
แมลงวัน  มาไต่  ที่กกหู
ลิงคิดว่า  ไอ้นี่ยวน  กวนเพื่อนกู
จะต้องบู๊  ให้มันตาย  อ้ายอัปรีย์

ฉวยดุ้นไม้  มาเงื้อ  ขึ้นสองมือ
ฟาดลงไป  เต็มตื้อ  แมลงวันหนี
ฝ่ายเพื่อนรัก  ดิ้นชัก  ไปหลายที
ดูเถิดนี่  ความรัก  ของอวิชชาฯ

พระรัตนตรัย


พระพุทธะ  พระธรรมะ  และพระสงฆ์
ล้วนต่างองค์  เป็นสามพระ  หรือไฉน
หรือเป็นองค์  เดียวกัน  ที่ชั้นใน
ดูเท่าไร  ก็ไม่เห็น  เป็นสามองค์

นั่นถูกแล้ว  ถ้าดูกัน  แต่ชั้นนอก
คือดูออก  มีพุทธะ  จอมพระสงฆ์
ได้ตรัสรู้  ซึ่งพระธรรม  ทรงจำนง
สอนพระสงฆ์  ทั้งหลาย  ให้รู้ตาม


แต่เมื่อดู  ชั้นใน  กลับได้พบ
ว่าธรรมหนึ่ง  ซึ่งอยู่ครบ  ในพระสาม
ทั้งพุทธ  สงฆ์  หรือว่าองค์  พระธรรมงาม
ล้วนมีความ  สะอาด  สว่าง  สงบ  บรรจบกันฯ

โพธิสัตว์

โพธิสัตว์  คือสัตว์มุ่ง  พัฒนา
ให้โพธิ  แผ่แก่กล้า  เต็มความหมาด
ดูให้ดี  มีอยู่จริง  ทั้งหญิงชาย
ดูงมงาย  จะไม่มี  ที่ไหน

ถ้าทุกคน  ดิ้นรน  เพื่อโพธิ
มันค่อยผลิ  ออกไป  ไม่หยุดเฉย
ถ้ามัวแต่  ร้องว่าแย่  ยอมแพ้เว้ย
ในโลกเลย  ไม่มี  โพธิชน

อย่ายอมแพ้  มุ่งแต่  ปลูกโพธิ
ให้เต็มสติ  กำลัง  หวังเอาผล
ไม่เสียที  ที่ได้เกิด  มาเป็นคน
ได้ผ่านพ้น  อวิชชา  เพราะกล้าทำฯ

อรหันต์

อรหันต์  นั้นคือถูก  ถึงที่สุด
ทางวิมุตติ  จากทุกข์  ทุกสาขา
ถึงความเต็ม  แห่งมนุษย์  สุดพรรณนา
ควรแก่การ  วันทา  ยิ่งกว่าใคร,

ท่านหักแล้ว  ซึ่งวง  แห่งวัฏฏ์วน
ไม่มีตน  เวียนว่าย  ในภพไหน
เหนือบุญ-บาป  ชั่ว-ดี  มีแต่ใจ
ที่ว่างไป  จากตัวกู  และของกู

จิตหลุดจาก  ทุกอย่าง  ที่เคยติด
ไม่มีพิษ  มีภัย  อะไรอยู่
เหนือความเกิด  ความตาย  ใคร่ครวญดู
จะได้รู้  พระนิพพพาน  เหมือนท่านแลฯ

ปุถุชน


หนาด้วยความ  เห็นแก่ตัว  มัวยึดมั่น
ว่าตัวฉัน  ของฉัน  มัวมั่นหมาย
เป็นตัวตน  นอกใน  ใจหรือกาย
ตั้งแต่เกิด  จนตาย  ไว้เป็นตัว

ด้วยอำนาจ  อวิชชา  ดังตาบอด
เกิดขึ้นสอด  ไปทุกกาล  สถานทั่ว
ต้องหลงรัก  หลงโศก  เกิดโรคกลัว
เป็นไฟคั่ว  ใจกาย  ให้ร้อนรน

อย่างนี้แล  เวียนว่าย  ในวัฏฏทุกข์
ไม่เยือกเย็น  เป็นสุข  สักเส้นขน
เห็นตัวทุกข์  ว่าเป็น  ตนของตน
นี่แหละหนา  ปุถุชน  คนหนาจริงฯ

เป็นเจ้าคุณ


เป็นเจ้าคุณ  เขาว่าบุญ  ใหญ่หลวงนัก
พากันปัก  ใจใคร่  ใฝ่ฝันหา
ฉันฉุกใจ  ในยุค  พระศาสดา
เป็นเจ้าคุณ  กันหรือหนา  ท่าไหนกัน

พัดใบตาล  ยังไม่มี  นี่พัดยศ
นิตยภัตต์  มีหมด  กระโถนขัน
สัญญาบัตร  ไตรประทาน  งานสำคัญ
ฉลองกัน  หรูหรา  จนบ้าใจฯ

เป็นพระเมือง


เป็นพระเมือง  เรื่องมาก  ด้วยอยากเด่น
ต้องเขม่น  กันไป  จนใหลหลง
ต้องแบกทรัพย์ แบกศักดิ์  แบกพรรคพงศ์
เพื่อการเมือง  เรื่องณรงค์  ด้วยจงใจ

งานใต้ดิน  ใต้น้ำ  ก็ทำเป็น
ถึงฆ่าเข่น  กันพินาศ  ไม่หวาดไหว
คอยแข่งกัน  มิให้ใคร  ดีกว่าใคร
ไม่เย็นใจ  เย็นตัว  มัวขึ้นลงฯ

เป็นพระป่า


เป็นพระป่า  สงบกว่า  เป็นพระเมือง
ไม่มีเรื่อง  แบกพรรค  แบกศักดิ์ศรี
ไม่ต้องสวม  หน้ากาก  ผู้มากดี
มันเกิดฟรี  ขึ้นมาเอง  เก่งในตัว

จะนั่งนอน  ยืนเดิน  ไม่เขินขัด
ไม่มีใคร  คอยวัด  ว่าดีชั่ว
ไม่มีเรื่อง  ยั่วเย้า  ให้เมามัว
จึงเย็นตัว  เย็นใจ  ไม่ขึ้นลงฯ

เป็นพระเถื่อน


เป็นพระเถื่อน  เหมือนนก  วิหคหงษ์
ย่อมบินตรง  ไปได้  ทิศไหนไหน
เป็นอิสระ  อยากจะผละ  สังคมใด
ก็ผละได้  ทันใจ  ไม่อัดแอฯ

เอ็นดูฉัน  ขอให้ฉัน  เป็นพระเถื่อน
มีหมู่ไม้  เป็นเพื่อน  ทุกกระแส
มดแมลง  แสดงธรรม  อยู่จำเจ
ไพเราะแท้  ไม่มีเบื่อ  เหลือกล่าวเอยฯ

เป็นพระบ้าน


เป็นพระบ้าน  นั้นเห็นว่า  ภาระมาก
ต้องเป็นครก  เป็นสาก  กันเต็มที่
หนอนสังคม  มีมา  ทั้งตาปี
ช่างเหลือที่  จะเป่าปัด  ขจัดมัน

ฉันทนเป็น  พระบ้าน  มานานแล้ว
ถ้าคิดไป  ใจแป้ว  ไม่สุขสันติ์
มีแต่งาน  เตี้ยต่ำ,  ทำตะบัน
ก็ไม่เห็น  มีวัน  จะหมดไปฯ

เป็นหลวงตา


เป็นหลวงตา  สนุกกว่า  เป็นเจ้าคุณ
เหมือนความว่าง  ดีกว่าบุญ  เป็นไหนๆ
ไม่ปรุงแต่ง  สังขาร  ประการใด
ล้วนเป็นไป  สงบเย็น  เป็นนิพพาน

บุญเป็นเรื่อง  สวยงาม  กิน-กาม-เกียรติ
แต่ไม่มี  ใครเกลียด  ทุกสถาน
ส่วนความว่าง  ว่างเสียจน  คนกลัวลาน
เขาเกลียดกัน  ขันจ้าน  เป็นหลวงตาฯ

อริยชน


อริยะ  แปลว่าละ  จากข้าศึก
ไม่จมลึก  อยู่ในโลก  โศกสลาย
จนไม่มี  ข้าศึกใหญ่  ทางใจกาย
เพราะจางคลาย  คือวิโยค  เป็นโลกเย็น

เป็นปุถุชน  กันทำไม  ให้นานเล่า
จะตายเปล่า  ไปทั้งชาติ  ฉลาดเห็น
มันมีทาง  ชนะทุกข์  ทุกประเด็น
อย่ามัวเป็น  ปู่โสม  เรื่องโคมลอย

ทิฏฐิว่า "ตัวกู"  และ  "ของกู"
มุ่งมล้าง  มันอยู่  อย่าท้อถอย
กิเลสหลาย  เริ่มมลาย  ไม่รัดร้อย
นี้คือรอย  อริยา  รีบหาเทอญฯ

กัลยาณชน


กัลยาณชน นั้นละได้ ในส่วนผิด
มายึดติด มากมาย ฝ่ายกุศล
หมายมั่นเห็น ว่าเป็น ตนของตน
เท่ากันกับ ปุถุชน “ยึดตัวกู”

แม้ความยึด จะเท่ากัน แต่มันแปลก
มันเกิดแยก ทางกัน ดูขันอยู่
ข้างหนึ่งยึด ความทราม กามเชิดชู
ข้างหนึ่งยึด ความหรู กุศลงาม

ปุถุชน เคยหนาทึบ ด้วยฝ้าตา
ครั้งนานมา เริ่มเห็น รัตนะสาม
คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตาม
ความเป็นจริง ใจเกิดงาม นามกัลยาณ์ฯ

ชาวบ้าน-ชาววัด

อันชาวบ้าน  ทำงาน  เพื่อกามเกียรติ
จึงเกิดความ  ตึงเครียต  จนสั่นเสียว
ส่วนชาววัด  มุ่งขจัด  ไปท่าเดียว
มิให้เกี่ยว  เกียรติกาม  มุ่งงามธรรม

จีงเกิดมี  เครื่องวัด  วัดชาวบ้าน
ด้วย “เงิน” “งาน” “อดอยาก” หรือ “อิ่มหนำ”?
ส่วนเครื่องวัด  ชาววัด,  วัดกิจกรรม
ว่าเขาทำ  ให้ว่างได้  เท่าไรแล;

ถ้าชาววัด  ฮึดฮัด  มุ่งกามเกียรติ
มันน่าเกลียด  แสนกล  คนตอแหล
ถ้าชาวบ้าน  เกียจคร้าน  งานเชือนแช
ก็มีแต่  ทุกข์ทน  หม่นหมองไป;

จึงขอให้  ชาวบ้าน  เป็นชาวบ้าน
ผสมผสาน  เกียรติกาม  ตามวิสัย
ให้ชาววัด  เป็นชาววัด  ขจัดไกล
เพื่อพ้นภัย  เกียรติ กาม  งามนักเอยฯ

ภัยร้ายของนักเรียน


เป็นนักเรียน  เพียรศึกษา  อย่าริรัก
ถูกศรปัก  เรียน  ไม่ได้  ดั่งใจหมาย
สมาธิจะ  หักเหี้ยม  เตียนมลาย
ถึงเรียนได้  ก็ไม่ดี  เพราะผีกวน

แต่เตือนกัน  สักเท่าไร  ก็ไม่เชื่อ
มันแรงเหลือ  รักร้าย  หลายกระสวน
หลอดพ่อแม่  มากมาย  หลายกระบวน
หน้าขาวนวล  ใจหยาบดำ  ซ้ำละลาย

การเล่าเรียน  เบื่อหน่าย  คล้ายจะบ้า
ใช้เงินอย่าง  เทน้ำเทท่า  น่าใจหาย
ไม่เท่าไร  ใจกระด้าง  สิ้นยางอาย
หญิงหรือชาย  เรียนไม่ดี  สิ่งนี้เอง

มีสัจจะ  ทมะ  และขันตี
กตัญญู  ทมะ  และขันตี
กตัญญู  กตเวที  อย่าโฉงเฉง
รักพ่อแม่  พวกพ้อง  ต้องยำเกรง
เรียนให้เก่ง  ให้ยิ้มแปล้  แก่ทุกคนฯ

ความเป็นพระ


ความเป็นพระ  คือจิตพราก  จากกิเลส
รู้สังเกต  ไม่ประมาท  ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง  รักษาใจ  ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว  ภัยทั้งสาม  ไม่ตามตอม

จากเรื่องกิน  เรื่องกาม  และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด  ในร้อนเย็น  ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี  ไม่ยินร้าย  ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม  ลวงเท่าไร  ไม่หลงลม

จิตสะอาด  ใจสว่าง  มโนสงบ
ทั้งครันครบ  กายวจี  ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ  จึงชนะ  เหนืออารมณ์
โลกนิยม  กระหยิ่มใจ  จึงไหว้แลฯ

อะไรเผือก?

ลิงจะเผือก  เพราะขน  มันสีขาว
ส่วนคนเรา  เผือกได้  ใครก้มเศียร
เนื่องจากมี  ธรรมา  ไม่อาเกียรณ์
ใครพากเพียร  เผือกได้  ไม่เว้นตน

ฝรั่งเผือก  ผิวขาว  เปล่าแก่นสาร
เที่ยวเพ่นพ่าน  มีได้  ทุกแห่งหน
คนเราเผือก  ไม่ได้  เพียงกายยล
เป็นสีขาว:  เผือกคน  ใช่เผือกลิง

ถ้าฝรั่ง  เป็นครูเรา,  ใช่เขาเผือก
ที่ตรงเปลือก,  อย่าคิด  ให้ผิดยิ่ง
มัวเลียนแบบ  ที่ตรงเปลือก  จะเผือกลิง
แล้วจะยิ่ง  กว่าไม่เผือก  เลือกให้ดีฯ

บุญเป็นอะไร


สิ่งนั้นๆ  เป็นเหมือน  ของเกลื่อนกลาด
ที่เป็นบาป  เก็บกวาด  ทิ้งใต้ถุน
ที่เป็นบุญ  มีไว้  เพียงเจือจุน
ใช้เป็นคุณ  สะดวกคาย  คล้ายรถเรือ,

หรือบ่าวไพร่  มีไว้ใช้  ใช่ไว้แบก
กลัวตกแตก  ใจสั่น  ประหวั่นเหลือ
เรากินเหลือ  ใช่จะต้อง  บูชาเกลือ
บุญเหมือนเรือ  มีไว้ขี่  ไปนิพพาน

มิใช่เพื่อ  ไว้ประดับ  ให้สวยหรู
เที่ยวอวดชู  แบกไป  ทุกสถาน
หรือลอยล่อง  ไปในโลก  โอฆกันดาร
ไม่อยากข้าม  ขึ้นนิพพาน  เสียดายเรือฯ

เป็นพ่อให้เป็นพ่อ

ถ้าเป็นพ่อ  ก็จงเป็น  ให้เป็นพ่อ
เป็นเพียงให้  ผีหัวร่อ  หรือพอใหว
เดี๋ยวนี้เป็น  กันจนผี  ขี้คร้านไย
พ่ออะไร  ให้ลูกจูง  จมูกพา

พ่อรุ่นนี้  เฝ้าพิรี้  พิไรปลอบ
ให้ชื่นชอบ  สุดแต่ลูก  จะปราถนา
จะตอบลูก  ก็ตอบไม่ถูก  ว่าเกิดมา
เพื่ออะไร  กันหนา  ยังมืดมนท์

พ่อไม่รู้  ลุกจะรู้  ได้อย่างไร
จะเดินไป  ทางไหน  ยังสับสน
ทำอะไร  ได้ไม่-  ถึงเสี้ยวคน
ลูกของตน  พ่อฆ่า  สาแก่ใจฯ

ตามรอยพระพุทธองค์


เมื่อทิ้งเกียรติ  เกลียดศักดิ์  รักสงบ
ก็จะพบ  นิพพานได้  ดั่งไขขาน
ตัวท่านแหละ  รู้ชัด  อุบัติการณ์
ว่าตัวท่าน  เองถึง  ซึ่งวิมุตติ

จงดำเนิน  ตามรอย  พระพุทธองค์
บากบั่นมุ่ง  รางวัล  อันเอกอุตม์
แน่ดั่งอา-  ทิตย์อุทัย  ไม่มีทรุด
ท่านจะยุด  วิมุตติได้  ไม่เปล่าเอยฯ

ปากอย่างใจอย่าง


มีปากอย่าง  ใจอย่าง  หนทางศุข
ไม่เกิดทุกข์  เพราะยึดมั่น  ฉันแถลง
ว่าคำพระ  พุทธองค์  ทรงแสดง
อย่าระแวง  ว่าฉันหลอก  ยอกย้อนเลย

อย่ายึดมั่น  สิ่งใดๆ  ด้วยใจตู
ว่าตัวกู  ของกู  อยู่เฉยๆ
ปากพูดว่า  ตัวกู  อยู่ตามเคย
ใจอย่าเป็น  เช่นปากเอ่ย  เหวยพวกเราฯ

เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง


จงทำงาน  ทุกชนิด  ด้วยจิตว่าง  
ยกผลงาน  ให้ความว่าง  ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร  ของความว่าง  อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น  แล้วในตัว  แต่หัวที

ท่านผู้ใด  ว่างได้  ดังว่ามา
ไม่มีท่า  ทุกข์ทน  หม่นหมองศรี
"ศิลปะ"  ในชีวิต  ชนิดนี้
เป็น "เคล็ด" ที่  ใครคิดได้  สบายเอยฯ

ยามไหนก็ได้

ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี
ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอยฯ

หมายเหตุ:
“ได้ให้เป็น” คืออย่าได้เพื่อเอามาเป็นตัวกูหรือของกูเหมือนที่เขาได้ๆกัน
“เป็นให้เป็น” คืออย่าเป็นด้วยรู้สึกยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่า กูเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามนั้นจริงๆ แม้ที่สุดแต่การเป็นบิดามารดา;
“ตายให้เป็น” คือตายชนิดที่ไม่ตาย, แต่กลับเป็นอยู่ ตลอดกาล, และต้องเป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่า “ตายเสียก่อนตาย” คือตายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนแต่ร่างกายแตกดับฯ

ยามจะใช้


ยามจะใช้  ใช้ให้เป็น  ไม่เป็นทุกข์
ยามจะกิน  กินให้ถูก  ตามวิถี
ยามจะถ่าย  ถ่ายให้เป็น  เห็นสุดดี
ถ้าอย่างนี้  ไม่เป็นทุกข์  ทุกวันคืนฯ

ยามจะมี


มีอะไร  มีไม่เป็น  ก็เป็นทุกข์
ถึงมีสุข  ก็ยิ่งทุกข์  เพราะสุขนั่น
ดูให้ดี  อย่าเสียที  ให้กับมัน
จะพากัน  มาเพิ่มทุกข์  ให้ทุกทีฯ

มันมีเท่านี้เอง


ต้องเวียนเกิด  เวียนตาย  ตามบุญบาป
เมื่อไรทราบ  ธรรมแท้  ไม่แปรผัน
ไม่ต้องเกิด  ไม่ต้องตาย  สบายครัน
มีเท่านั้น!  ใครหาพบ  จบกันเอยฯ

ภัทเทกรัตต์

สิ่งล่วงแล้ว  แล้วไป  อย่าใฝ่หา
ที่ไม่มา  ก็อย่าพึ่ง  คนึกหวัง
อันวันวาน  ผ่านพ้น  ไม่วนวัง
วันข้างหน้า  หรือก็ยัง  ไม่มาเลย

ผู้ใดเฟ้น  เห็นชัด  ปัจจุบัน
เรื่องนั่นนั้น  แจ่มกระจ่าง  อย่างเปิดเผย
ไม่แง่นง่อน   คลอนคลั่ง ดั่งเช่นเคย
รู้แล้วเลย  ยิ่งเร้า  ให้ก้าวไป

วันนี้เอง  เร่งกระทำ  ซึ่งหน้าที่
อันวันตาย  แม้พรุ่งนี้  ใครรู้ได้
เพราะไม่อาจ  บอกปัด  หรือผลัดไว้
ต่อความตาย  และมหา  เสนามัน

ผู้มีเพียร  เวียนเป็น  อยู่เช่นนี้
ทั้งทิพา  ราตรี  แข็งขยัน
นั่นแหละผู้  “ภัทเท-  กรัตต์” อัน

อยู่กันนิรันดร

“ทำกับฉัน  อย่างกะฉัน  นั้นยังอยู่
อยู่เป็นคู่  กันชั่วฟ้า  ดินสลาย
ทำกับฉัน  อย่างกะฉัน  นั้นไม่ตาย
ท่านทั้งหลาย  ก็อยู่กัน  นิรันดร

ทำฉันใด  จึงจะเป็น  เช่นนั้นเล่า
คือทำให้  เข้าเค้า  พระองค์สอน
สิ่งไม่ตาย  ถึงให้ได้  ทุกขั้นตอน
สิ่งม้วยมรณ์  ก็ทิ้งมัน  นั่นแลนา

สิ่งปรุงแต่ง  ใดใด  ในโลกนี้
ไม่ยินดี  ยึดมั่น  แหละท่านขา
จิตว่างไป  ไร้ “ตัวกู”  ไม่จู่มา
ไม่เห็นว่า  อะไรกัน  ที่มันตายฯ

วิธีทำไม่ให้ฉันตาย

แม้ฉันตาย  กายลับ  ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง  ยังแจ้ว  แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอด  กันอย่างไร  ไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉัน  ไม่ตาย  กายธรรมยัง

ทำกับฉัน  อย่างกะฉัน  นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ  ท่านทั้งหลาย  อย่างหนหลัง
มีอะไร  มาเขี่ยไค้  ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง  ร่วมด้วย  ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน  อย่างกะฉัน  ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด  ผลสนอง  หลายแขนง
ทุกวันนัด  สนทนา  อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง  ที่สุดได้  เลิกตายกันฯ

พุทธทาสจักไม่ตาย


พุทธทาส  จักอยู่ไป  ไม่มีตาย
แม้ร่างกาย  จะดับไป  ไม่ฟังเสียง
ร่ายกายเป็น  ร่างกายไป  ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียง  สิ่งเปลี่ยนไป  ในเวลา

พุทธทาส  คงอยู่ไป  ไม่มีตาย
ถึงดีร้าย  ก็จะอยู่  คู่ศาสนา
สมกับมอบ  กายใจ  รับใช้มา
ตามบัญชา  องค์พระพุทธ  ไม่หยุดเลย

พุทธทาส  ยังอยู่ไป  ไม่มีตาย
อยู่รับใช้  เพื่อนมนุษย์  ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์  ตามที่วาง  ไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ย  มองเห็นไหม  อะไรตายฯ

ปริญญาจากสวนโมกข์

“ปริญญา  ตายก่อนตาย”  ใครได้รับ
เป็นอันนับ  ว่าจบสิ้น  การศึกษา
เป็นโลกุตตร์  หลุดพ้น  เหนือโลกา
หยุดเวียนว่าย  สิ้นสังสา-  รวัฏฏ์วน

ปริญญา  แสนสงวน  จากสวนโมกข์
คนเขาว่า  เยกโยก  ไม่เห็นหน
ไม่เห็นดี  ที่ตรงไหน  ใครสัปดน
รับเอามา  ด่าป่น  กันทั้งเมือง

นี่แหละหนา  ปริญญา  “ตายก่อนตาย”
คนทั้งหลาย  มองดู  ไม่รู้เรื่อง
เขาอยากอยู่  ให้เด่นดัง  มลังเมลือง
เขาเลยเคือง  ว่าเราชวน  ให้ด่วนตายฯ

ชีวิตนี้คืออะไรกัน

ชีวิตนี้  คืออะไรกัน?  ฉันคิดว่า
เป็นความบ้า  ของธรรมชาติ  ประหลาดขัน
ปรุงแต่งธาตุ  แห่งกายใจ  ไหลเป็นควัน
เป็นธาตุความ  อร่อยชั้น  สัญชาตญาณ

ชีวิตนี้  มีทำไมกัน?  ฉันเห็นว่า
เพื่อความบ้า  ถึงที่สุด  สิ้นสงสาร
สงบกาย  ใจเย็น  เป็นนิพพาน
อวสานแห่ง  ความไหล  ไม่มีควัน

ชีวิตนี้  ทำอย่างไรกัน?  ฉันถือว่า
ต้องหยุดบ้า  ในอร่อย  คอยผ่อนผัน
ตามองค์มรรค  แปดประการ  ประสานกัน
ทุกคืนวัน  ให้ถูกต้อง  คลองสัมมาฯ

บางนาทีท่านมีมัน

รสอะไร  ไม่ประเสริฐ  หรือสุทธิศานติ์
ยิ่งไปกว่า  รสของการ  ไม่ต้องได้
ไม่ต้องเป็น  ไม่ต้องอยู่  ไม่ต้องตาย
ไม่กระหาย  ไม่สงสัย  ไม่กังวล

ไม่หวั่นไหว  ไม่ถือ  ร้ายหรือดี
ไม่ถวิล  หวังที่  มันสับสน
เช่นจวนได้  หรือจะได้  แต่กลายวน
เป็นไม่แน่  ว่าตน  จะได้มัน

รสความว่าง  อิ่มโอชะ  ตลอดกาล
เป็นสัมปราย-  โวหาร  พระอรหันต์
ดูให้ดี  บางนาที  ท่านมีมัน
แต่ว่าท่่าน  ดูไม่ดี  ไม่มีเอยฯ

ต้นสนเฒ่า

 เมื่อมันยัง  ไม่ได้  เป็นพุทธะ
ต้นสนเฒ่า  ก็ยังจะ  อืดอาดฝัน
เอื่อยๆไป  ได้สนุก  ทุกคืนวัน
พอเหมาะครัน  เป็นพุทธได้  ในพริบตา.
มนุษย์เรา  เบาความ  ยามสบาย
ก็ไม่ใฝ่  ฝึกธรรม  ตามวาสนา
จนแก่เฒ่า  เข้าเขตของ  มรณา
ก็พะว้า  พะวังวาย  ตายเปล่าเอยฯ

รสแห่งความเปลี่ยนแปลง

สันดานจิต ชอบเวียน เปลี่ยนเสมอ
มันเฝ้าเพ้อ หาใหม่ ใฝ่กระสัน
จะเปลี่ยนรส, เปลี่ยนที่, เปลี่ยนสิ่งอัน
แวดล้อมมัน, เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนอารมณ์

รสของความ เปลี่ยนแปลง แฝงเจืออยู่
จึงได้ดู เป็นรส ที่เหมาะสม
เป็นรสแห่ง อนิจจัง ช่างลับลม
ไม่รู้ถึง จึ่งงม ว่าเลิศดีฯ

คาถาดับสังขาร


สิ่งปรุงแต่ง ทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ
มันเกิดก่อ ตามหน้าที่ มีสังขาร
แล้วก็ดับ เป็นธรรมดา ตามอาการ
ไม่อยู่นาน มันเป็น เช่นนี้แล

สังขารกลุ่ม นี้หนอ ก็เหมือนกัน
จะสิ้นสุด ลงในวัน นี้เป็นแน่
ไม่มีใคร เกิดหรือตาย มีได้แต่
สังขารแท้ๆ มันจะดับ โดยธรรมดา

ความสงบ มีเพราะดับ แห่งสังขาร
มันดับเย็น เป็นนิพพาน สิ้นสังสาร์
นามรูปนี้ ดับวันนี้ เป็นกิริยา
ไม่มีเชื้อ กลับมา เกิดอีกแลฯ

ดับสังขาร


อนิจฺจา วต สงฺขารา
"สิ่งที่เหตุ ปรุงขึ้นมา ไม่เที่ยงหนอ!"
อุปาท วยธมฺมิโน; พอ
เกิดแล้วก็ แปรไป เป็นธรรมดา

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
มันเกิด,ผลิ แล้วก็ดับ ลับต่อหน้า
เป็นเช่นนี้ เวียนวัฏฏ์ อยู่อัตรา
ใครจะว่า วอนอย่างไร ไม่ฟังกัน

เดสํ วูปสโม สุโข; แปล
ว่าสุขแท้ คือสงบการ ปรุงแต่งนั่น
ไม่ปรุงแต่ง ตัวตนอะไร สักสิ่งอัน
ชีวิตดับ หรือไม่นั้น ไม่เป็นประมาณฯ

หนทางชนะตาย


ลองอยากตาย ใจสบาย บอกไม่ถูก
ไม่ต้องหนาว ถึงกระดูก นะสหาย
มีแต่ครื้น- เครงใจ อยู่ไม่วาย
ไม่เห็นเป็น ภัยร้าย ในมรณา

สมัครตาย ยิ่งสบาย ไปกว่านั้น
ไม่มีปัญ- หาเหลือ เป็นเชื้อผวา
การจะอยู่ หรือจะตาย คล้ายกันนี่หว่า
ความชรา หรือเจ็บไข้ ไม่อาจรอ

ตายก่อนตาย ยิ่งสบาย ไปกว่าอีก
เป็นการฉีก "กู" สลาย ไม่เหลือหลอ
ทั้ง "ของกู" ไม่อาจเกิด ประเสริฐพอ
ต่อนั้นหนอ ไม่มีใคร ที่ตายเอยฯ

ตายก่อนตาย


ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี
ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง
ตายทำไม เพียงให้ เขาใส่โลง
ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย

ตายก่อนตาย มิใช่กลาย ไปเป็นผี
แต่กลายเป็น สิ่งที่ ไม่สูญหาย
ที่แท้คือ ความตาย ที่ไม่ตาย
มีความหมาย ไม่มีใคร ได้เกิดแล

คำพูดนี้ ผันผวน ชวนฉงน
เหมือนเล่นลิ้น ลาวน คนตอแหล
แต่เป็นความ จริงอัน ไม่ผันแปร
ใครคิดแก้ อรรถได้ ไม่ตายเอยฯ

ความแก่

ความแก่หง่อม ย่อมทุลัก ทุเลมาก
ดั่งคนบอด ข้ามฟาก ฝั่งคลอง,หา
วิธีไต่ ไผ่ลำ คลานคลำมา
กิริยา แสนทุลัก ทุเลแล;
ถ้าไม่อยาก ให้ทุลัก ทุเลมาก
ต้องข้ามฟาก ให้พ้น ก่อนตนแก่
ก่อนตามืด หูหนวก สะดวกแท้
ตรองให้แน่ แต่เนิ่นๆ รีบเดินเอยฯ

มีธรรมเป็นอาภรณ์


คนไร้ธรรม ฟั่นเฟือน เหมือนเปลือยกาย
มันน่าอาย อวดได้ ไม่คลื่นเหียน
คนมีธรรม รู้อาย ไม่ว่ายเวียน
จุ่งดูให้ แนบเนียน มีอาภรณ์

อาจสุขเย็น เห็นประจักษ์ เพราะรักตัว
ไม่เมามัว รักกิเลส เป็นเหตุถอน
ตนออกจาก ความจริง สิ่งถาวร
จนเห็นกง- จักรร้อน เป็นดอกบัว

ความเห่อเหิม เพิ่มตัณหา ให้กล้าจัด
เหมือนหลงสร้าง สมบัติ ไว้ทูนหัว
ยิ่งมีมาก หนักมาก ยิ่งยากตัว
ทั้งยิ่งกลัว ความวิบัติ ขึ้นบัดดล

ประชดธรรม




ประชดธรรม คำนี้ มีความหมาย
ที่เปรียบได้ เป็นอุปมา ห้าสถาน
ประชดน้ำ พร่ำแต่ดื่ม น้ำล้างจาน
เปรี้ยวหรือหวาน เขาก็รู้ อยู่แก่ใจ

ประชดลม ก็อมอุจ- จาระพ่น
ตลบมา หน้าของตน ก็พ่นใหญ่
ประชดบาป นำมาอาบ นาบหทัย
ประชดไฟ ให้สาสม แก่ยมบาล

ประชดกรรม นำกิเลส มาไล้หัว
ทั้งเนื้อตัว แมมมอม จอมกล้าหาญ
อย่ามาเตือน ทั้งบิดา หรืออาจารย์
ยอมวายปราณ รวมหมด ประชดตนฯ

มังคุดธรรม


ไอ้จ๋อหนึ่ง กัดมังคุด ทั้งเปลือกฝาด
ก็อาละวาด ขว้างทิ้ง กลิ้งหลุนหลุน
ไอ้จ๋อหนึ่ง มีปัญญา รู้ค่าคุณ
หยิบบิดุน กินเนื้อใน ชื่นใจลิง

คนโง่งับ ศาสนา ร้องว่าฝาด
ก็อาละวาด โกรธใจ คล้ายผีสิง
สัตบุรุษ ขุดพระธรรม ได้ความจริง
ดื่มธรรมยิ่ง ดื่มสุข ทุกวันคืน

ลิงหรือคน ก็วิกล ได้ด้วยกัน
กลืนถูกมัน ก็กลืนคล่อง ไม่ต้องฝืน
กลืนทั้งเปลือก ตาเหลือก ตายทั้งยืน
กลืนเนื้อใน ชื่นมื่น รื่นเริงธรรมฯ

ไม่น่าจะบ้า

พุทธศาสนา คือวิชา ที่เปลื้องปลุก
มิให้คน ทนทุกข์ เท่้าเส้นขน
แต่คนรับ รับมา ท่าสัปดน
มาทำตน ให้ทุกข์ รุกขึ้นไป

ให้ยึดมั่น ขลาดเขลา เมาศาสนา
สอนเป็นบ้า เรียนเป็นบ้า คว้ากันใหญ่
สร้างเป็นบ้า จนเป็นฝ้า บังจิตใจ
เกิดฝักฝ่าย พวกพรรค รักสู้กัน
ส่วนพระธรรม คำสอน สิ่งดับทุกข์
ไม่สนใจ ทำให้ถูก ตามหลักนั่น
หลงส่งเสริม เพิ่มทุกข์ ลุกเป็นควัน
นี่แหละพันธุ์ พวกบ้า เจ้าข้าเอยฯ

เรียนชีวิต



เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง
อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียกกฏ
มันตรงตรง คดคด อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ ชีวิตัง
ดูแล้วหยั่ง ลงไป ในชีวิต
ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมซาบ วิญญาณ์ อย่างวิศิษฐ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับชิด
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเองฯ

เรียนศาสนาที่ตาหู

เรียนศาสนา นั้นต้องมี ที่ตาหูฯ
เมื่อให้เกิด ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้ ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ มารรบกวน
เรียนตรงตรง ลงไป ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี กี่กระสวน
สะกัดกั้น การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน สงบได้ ทุกข์หายไป

เรียนศาสนา

คำนี้ฟัง วนเวียน "เรียนศาสนา"
ไม่แน่ว่า เรียนอะไร ทำไมหนอ
เรียนนักธรรม เรียนบาลี ยังมิพอ
ก็เรียนต่อ กัมมัฏฐาน การวิปัสสนา

เรียนเรียนไป ก็ได้ สักว่าเรียน
บ้างก็เปลี่ยน เป็นอาพาธ บ้าศาสนา
มีหลายอย่าง บ้าระห่ำ เกินธรรมดา
กระทั่งบ้า ลาภยศ อดนิพพาน

เรียนศาสนา นั้นต้องมี ที่ตาหูฯลฯ
ไม่ให้เกิด ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้ ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ มารรบกวน

เรียนตรงตรง ลงไป ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี กี่กระสวน
สะกัดกั้น การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน สงบได้ ทุกข์หายไปฯ