หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

ความแก่

ความแก่หง่อม ย่อมทุลัก ทุเลมาก
ดั่งคนบอด ข้ามฟาก ฝั่งคลอง,หา
วิธีไต่ ไผ่ลำ คลานคลำมา
กิริยา แสนทุลัก ทุเลแล;
ถ้าไม่อยาก ให้ทุลัก ทุเลมาก
ต้องข้ามฟาก ให้พ้น ก่อนตนแก่
ก่อนตามืด หูหนวก สะดวกแท้
ตรองให้แน่ แต่เนิ่นๆ รีบเดินเอยฯ

มีธรรมเป็นอาภรณ์


คนไร้ธรรม ฟั่นเฟือน เหมือนเปลือยกาย
มันน่าอาย อวดได้ ไม่คลื่นเหียน
คนมีธรรม รู้อาย ไม่ว่ายเวียน
จุ่งดูให้ แนบเนียน มีอาภรณ์

อาจสุขเย็น เห็นประจักษ์ เพราะรักตัว
ไม่เมามัว รักกิเลส เป็นเหตุถอน
ตนออกจาก ความจริง สิ่งถาวร
จนเห็นกง- จักรร้อน เป็นดอกบัว

ความเห่อเหิม เพิ่มตัณหา ให้กล้าจัด
เหมือนหลงสร้าง สมบัติ ไว้ทูนหัว
ยิ่งมีมาก หนักมาก ยิ่งยากตัว
ทั้งยิ่งกลัว ความวิบัติ ขึ้นบัดดล

ประชดธรรม




ประชดธรรม คำนี้ มีความหมาย
ที่เปรียบได้ เป็นอุปมา ห้าสถาน
ประชดน้ำ พร่ำแต่ดื่ม น้ำล้างจาน
เปรี้ยวหรือหวาน เขาก็รู้ อยู่แก่ใจ

ประชดลม ก็อมอุจ- จาระพ่น
ตลบมา หน้าของตน ก็พ่นใหญ่
ประชดบาป นำมาอาบ นาบหทัย
ประชดไฟ ให้สาสม แก่ยมบาล

ประชดกรรม นำกิเลส มาไล้หัว
ทั้งเนื้อตัว แมมมอม จอมกล้าหาญ
อย่ามาเตือน ทั้งบิดา หรืออาจารย์
ยอมวายปราณ รวมหมด ประชดตนฯ

มังคุดธรรม


ไอ้จ๋อหนึ่ง กัดมังคุด ทั้งเปลือกฝาด
ก็อาละวาด ขว้างทิ้ง กลิ้งหลุนหลุน
ไอ้จ๋อหนึ่ง มีปัญญา รู้ค่าคุณ
หยิบบิดุน กินเนื้อใน ชื่นใจลิง

คนโง่งับ ศาสนา ร้องว่าฝาด
ก็อาละวาด โกรธใจ คล้ายผีสิง
สัตบุรุษ ขุดพระธรรม ได้ความจริง
ดื่มธรรมยิ่ง ดื่มสุข ทุกวันคืน

ลิงหรือคน ก็วิกล ได้ด้วยกัน
กลืนถูกมัน ก็กลืนคล่อง ไม่ต้องฝืน
กลืนทั้งเปลือก ตาเหลือก ตายทั้งยืน
กลืนเนื้อใน ชื่นมื่น รื่นเริงธรรมฯ

ไม่น่าจะบ้า

พุทธศาสนา คือวิชา ที่เปลื้องปลุก
มิให้คน ทนทุกข์ เท่้าเส้นขน
แต่คนรับ รับมา ท่าสัปดน
มาทำตน ให้ทุกข์ รุกขึ้นไป

ให้ยึดมั่น ขลาดเขลา เมาศาสนา
สอนเป็นบ้า เรียนเป็นบ้า คว้ากันใหญ่
สร้างเป็นบ้า จนเป็นฝ้า บังจิตใจ
เกิดฝักฝ่าย พวกพรรค รักสู้กัน
ส่วนพระธรรม คำสอน สิ่งดับทุกข์
ไม่สนใจ ทำให้ถูก ตามหลักนั่น
หลงส่งเสริม เพิ่มทุกข์ ลุกเป็นควัน
นี่แหละพันธุ์ พวกบ้า เจ้าข้าเอยฯ

เรียนชีวิต



เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง
อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียกกฏ
มันตรงตรง คดคด อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ ชีวิตัง
ดูแล้วหยั่ง ลงไป ในชีวิต
ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมซาบ วิญญาณ์ อย่างวิศิษฐ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับชิด
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเองฯ

เรียนศาสนาที่ตาหู

เรียนศาสนา นั้นต้องมี ที่ตาหูฯ
เมื่อให้เกิด ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้ ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ มารรบกวน
เรียนตรงตรง ลงไป ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี กี่กระสวน
สะกัดกั้น การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน สงบได้ ทุกข์หายไป

เรียนศาสนา

คำนี้ฟัง วนเวียน "เรียนศาสนา"
ไม่แน่ว่า เรียนอะไร ทำไมหนอ
เรียนนักธรรม เรียนบาลี ยังมิพอ
ก็เรียนต่อ กัมมัฏฐาน การวิปัสสนา

เรียนเรียนไป ก็ได้ สักว่าเรียน
บ้างก็เปลี่ยน เป็นอาพาธ บ้าศาสนา
มีหลายอย่าง บ้าระห่ำ เกินธรรมดา
กระทั่งบ้า ลาภยศ อดนิพพาน

เรียนศาสนา นั้นต้องมี ที่ตาหูฯลฯ
ไม่ให้เกิด ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้ ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ มารรบกวน

เรียนตรงตรง ลงไป ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี กี่กระสวน
สะกัดกั้น การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน สงบได้ ทุกข์หายไปฯ

เรียนธรรมะกับเรียนปรัชญา

เรียนอะไร ถ้าเรียน อย่างปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า ฟิโลโซฟี่ส์
ยิ่งพลาดจาก ธรรมะ ที่ควรมี
เพราะเหตุที่ ยิ่งเรียนไป ยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่าง คำนวณสิ่ง ไม่มีตัว
สมมติฐาน เอาในหัว อย่างครื้มครึ่ม
อุปมาน อนุมาน สร้างทึมทึม
ผลออกมา งึมงึม งับเอาไป
เรียนธรรมะ มีวิถี วิทยาศาสตร์
มีตัวธรรม ที่สามารถ เห็นชัดใส
ไม่คำนวณ หากแต่มอง ลองด้วยใจ
ส่องลงไป ตามที่อาจ ฉลาดมอง
จะส่วนเหตุ หรือส่วนผล ยลประจักษ์
เห็นตระหนัก ว่าอะไร อย่างไรสนอง
แก่คำถาม แจ้งถนัด ชัดทำนอง
ตามที่ต้อง ปฏิบัติ ชัดลงไปฯ

เรียนวิปัสสนา

เรียนวิปัสสนา เพิ่งมีมา ต่อภายหลัง
ไม่เคยฟัง ในบาลี ที่ตถา
ไม่แยกเป็น คันถะ วิปัสสนา
มีแต่ว่า ตั้งหน้า บำเพ็ญธรรม
เพราะทนอยู่ ไม่ได้ ในกองทุกข์
จึงได้ลุก จากเรือนอยู่ สู่เนกขัม
จัดชีวิต เหมาะแท้ แก่กิจกรรม
เพื่อกระทำ ให้แจ้ง แห่งนิพพาน
ในบัดนี้ มีสำนัก วิปัสสนา
เกิดขึ้นมา เป็นพิเศษ เขตสถาน
ดูเอาจริง ยิ่งกว่าครั้ง พุทธกาล
ขอให้ท่าน จริง,ดี มี วิปัสสนาฯ