หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

สุจิต-ทุจิต


ทุจิต คือจิต เกิด "ตัวกู"
เฝ้ายกหู ชูหาง อย่างบ้าหลัง
เขาตักเตือน อย่างไร ไม่ยอมฟัง
เฝ้าคลุ้มคลั่ง เดือดพล่าน เผาผลาญใจ

สุจิต คือจิต ว่าง "ตัวกู"
สะอาดอยู่ ด้วยสภาพ อันผ่องใส
สว่างอยู่ เพราะเห็นตาม ความจริงไป
สงบอยู่ เพราะเย็นได้ ไม่ร้อนรน

เหตุดังนั้น หมั่นระวัง ตั้งสติ
คุมความตริ ทันควัน หมั่นฝึกฝน
มิให้เกิด "ตัวกู" อยู่ในตน
เป็นสุชน เพราะสุจิต วิศิฏฐ์เอยฯ

ระวัง ผี "กู" ผี "สู"


อันความจริง "กู"~"สู" มิได้มี
แต่พอโง่ ก็เป็นผี โผล่มาได้
พอหายโง่ "กู"~"สู" ก็หายไป
หมด "กู"~"สู" เสียได้ เป็นเรื่องดีฯ

รักสงบ ชวนกันถอน ซึ่ง "สู"~"กู"
อย่าให้มี เหลืออยู่ เหมือนอย่างผี
เหลือกันไว้ แต่ปัญญา และปราณี
อย่าให้มี "กู"~"สู" เหลืออยู่เวยฯ

อันธรรมชาติ ผี "กู" และผี "สู"
มันเป็นคู่ กัดกัน ชั้นเปิดเผย
เข้าสิงจิต เมื่อไร เป็นไม่เสบย
อย่าเลี้ยงเลย ผีทั้งสอง ต้องขับไปฯ

มีโดยไม่ต้องมีผู้มี

ถ้ามีอะไร แล้วใจ รู้สึกเหนื่อย
สำนึกเรื่อย ว่ากูมี อย่างนี้หนา
มีทั้ง "กู" ทั้ง "ของกู" อยู่อัตรา
นั่นอัตตา มาผุดขึ้น ในการมี

ถ้ามีอะไร มีไป ตามสมมุติ
ไม่จับยุด ว่า "ของกู" รู้วิถี
แห่งจิตใจ ไม่วิปริต ผิดวิธี
มีอย่างนี้ ย่อมไม่เกิด ตัวอัตตา

ฉะนั้นมีอะไร อย่ามีให้ อัตตาเกิด
เพราะสติ อันประเสริฐ คอยกันท่า
สมบูรณ์ด้วย สัมปชัญญ์ และปัญญา
นี้เรียกว่า รู้จักมี ที่เก่งเกิน

เป็นศิลปะ แห่งการมี ที่ชั้นยอด
ไม่ต้องกอด ไฟนรก ระหกระเหิน
มีอย่างว่าง ว่างอย่างมี มีได้เพลิน
ขอชวนเชิญ ให้รู้มี อย่างนี้แลฯ

ตัวกูกับตัวกู

อัน "ตัวกู" "ตัวสู" มิได้มี
แต่พอโง่ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายโง่ "กู"~"สู" ก็หายไป
พอโง่ใหม่ โผล่ใหม่ ดูให้ดี

แต่ละข้าง ต่างยึด ว่า "ตัวกู"
จึงเกิดการ ต่อสู้ กันอย่างผี
ต่างหมายมั่น แก่กัน ฉันไพรี
ทั้งเปิดเผย ลับลี้ มีทั่วไป

ที่ด้วยกว่า สู้ว่ากู ก็มีดี
ที่เด่นกว่า ข่มขี่ เขาเข้าไว้
ที่พอกัน กันท่า ไม่ว่าใคร
ล้วนแต่ใคร่ โด่งเด่น เป็นธรรมดา

เอาพระธรรม กวาดล้าง อย่างไม้กวาด
สำหรับฟาด หัวสัตว์ ที่ข้างฝา
ตกกระเด็น เป็นเหยื่อ แก่ไก่กา
ที่เก่งกว่า คืออย่าโง่ ให้โผล่เอยฯ

เมื่อกูเก่ง

ฉันมีปัญ~ ญาล้น จนหัวโต
พวกแกโง่ ดูหมิ่นฉัน กันจนได้
ฉันอยากฆ่า ตัวตาย ให้ใครใคร
ได้เข้าใจ ว่าใครโง่ โขกว่ากัน
ฉันมีดี อะไรๆ ไม่แกล้งว่า
ฉันเก่งกว่า คนตั้งแสน เป็นแม่นมั่น
หัวฉันโต กว่าหัวช้าง ไม้แกะกัน
ทำไมแก ไม่กลัวฉัน น่าขันเอยฯ

ของกู-ของสู

อันความจริง "ของกู" มิได้มี
แต่พอเผลอ "ของกู" มี ขึ้นจนได้,
พอหายเผลอ "ของกู" ก็หายไป
หมด "ของกู" เสียได้ เป็นเรื่องดี;
สหายเอ๋ย จงถอนซึ่ง "ของกู"
และถอนทั้ง "ของสู" อย่างเต็มที่
ของเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ทุกนาที
เพราะไม่มี ของใคร ที่ไหนเอยฯ

ตัวกู-ตัวสู (๒)

อันความจริง: "ตัวกู" มิได้มี
แต่พอเผลอ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายเผลอ "ตัวกู" ก็หายไป
หมด "ตัวกู" เสียได้ เป็นเรื่องดี;
สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง "ตัวกู"
และถอนทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่
มีกันแต่ ปัญญา และปราณี
หน้าที่ใคร ทำให้ดี เท่านี้เอยฯ

ตัวกู-ตัวสู (๑)

อันความจริง "ตัวกู" มิได้มี
แต่พอโง่ มันก็มี ขึ้นจนได้
พอหายโง่ "ตัวกู" ก็หายไป
หมด "ตัวกู" เสียได้ เป็นเรื่องดี
เหตุดังนั้น จงถอน ซึ่ง "ตัวกู"
และถอนทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่
คงมีแต่ ปัญญา และปราณี
หน้าที่ใคร ทำได้ดี เท่านี้เอยฯ

บาปใหญ่-บาปลึก?


คิดว่าดี กว่าเขา ซิเราแย่
มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่บาปใหญ่
ส่วนตัวเอง บาปลึก นึกให้ไกล
มันบาปเบา อยู่เมื่อไร ให้นึกดู

เขาติดซ้าย, เราติดขวา, ถ้ามานึก
มันยังติด เหลือลึก กันทั้งคู่
แม้ติดซ้าย เลวกว่า ไม่น่าดู
แต่ติดขวา มันก็หรู อยู่เมื่อไร

มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่ยังเลว
ส่วนตัวเอง ก็ยังเหลว ไม่ไปไหน
เฝ้าเกลียดซ้าย รักขวา เป็นบ้าใจ
มันก็ไพล่ พลัดห่าง ทางนิพพานฯ

ยึดมั่นมันกัดแน่


ชอบยึดมั่น ระวังมัน จะกัดเอา
เพราะความเขลา ยึดมั่น มีตัณหา
อุปาทาน กอดรัด มัดวิญญาณ์
อยู่ดีีดี ก็เป็นบ้า มาทันที

ยึดสิ่งใด สิ่งนั้น แหละมันกัด
กิน,กาม,เกียรติ สารพัด กลีหรือศรี
หรือแม้บุตร ภรรยา และสามี
ความชั่วดี บุญหรือบาป จงทราบกัน

แม้รสสุข ที่อร่อย อยู่กับใจ
ชั้นที่อร่อย แน่นิ่งไป, ถ้ายึดมั่น
จะกลายเป็น ยักษา ขึ้นมาพลัน
แล้วห้ำหั่น กัดเอา อย่าเขลาเอย

หลักของคนทุกวันนี้


ถ้าเอาเปรียบ เขาไม่ได้ ก็ว่า "ไม่ถูก"
ถ้าจูงจมูก ได้ทุกที ก็ว่า "ดีเหลือ"
ถึงวันดี เกิดมี เกลือจิ้มเกลือ
ร้องว่า "เบื่อ" โลกอะไร? ไม่เป็นธรรม

คนพวกนี้ มีโลก ของตัวเอง
ไปตามเพลง ของกิเลส ที่อุปถัมภ์
ไม่ยอมรับ อะไรหมด แม้กฏกรรม
ความเป็นธรรม นั้นคือ "ได้ ตามใจตัว"

ไกลจากสัตว์ ไปทุกที ที่ว่าเจริญ
หาส่วนเกิน มาเทิดไว้ ใส่เกล้าหัว
ใช้สงคราม ตัดสินความ ไม่คร้ามกลัว
ว่าความชั่ว จะไหม้โลก เป็นโคกไฟ

อะไรที่ไหน

อันความงาม มีอยู่ตาม หมู่ซากผี
อันความดี อยู่ที่ละ สละยิ่ง
ความเป็นพระ อยู่ที่เพียร บวชเรียนจริง
นิพพานดิ่ง
อยู่ที่ตาย ก่อนตายเอยฯ

นั่งเหนือเมฆ

รู้สึกว่า น่าดู อยู่เหนือเมฆ
แสนวิเวก สุขใจ ดั่งในฝัน
เมื่อเมฆนอก เมฆใน ไม่พัวพัน
เป็นสุขครัน สิ่งใด ไม่มีปาน

นั่งเหนือเมฆ แล้วบางคน ยังก่นเศร้า
อะไรเล่า ติดมา ลองว่าขาน
หรือเงินทอง ติดตัง ทั้งการงาน
ก็ตามมา รังควาญ เป็นถ่านไฟ

เห็นไหมเล่า เมฆนอก ยังหลอกหลวง
ดึงใครล่วง เลยได้ ก็ไม่ไหว
ยังไม่พ้น ทุกข์ทน หม่นหมองใจ
พ้นเมฆใน จึงจะเอก วิเวกจริง

ดูป่วยการ ที่จะผ่าน เพียงเมฆกาย
ไม่ทุกข์ทน มากมาย ดอกชายหญิง
ส่วนเมฆจิต ปิดบัง ควรชังชิง
ยิ่งกว่าลิง หลอกเจ้า ทำเราเพลีย

อันเมฆกาย ที่จะกลาย เป็นเมฆจิต
ก็เพราะความ ขุ่นคิด จนจิตเสีย
ถ้ารู้เท่า ทันทั่ว ไม่งัวเงีย
หยุดนัวเนีย ก็เย็นเหลือ เหนือเมฆเอย

ยาระงับสรรพทุกข์

ต้น 'ไม่รู้-ไม่ชี้' นี่เอาเปลือก
ต้น 'ช่างหัวมัน' นั้นเลือก เอาแก่นแข็ง
'อย่างนั้นเอง' เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง
'ไม่มีกู-ของกู' แสวง เอาแต่ใบ

'ไม่น่าเอา-น่าเป็น' เฟ้นเอาดอก
'ตายก่อนตาย' เลือกออก ลูกใหญ่ๆ
หกอย่างนี้ อย่างละชั่ง ตั้งเกณฑ์ไว้
'ดับไม่เหลือ' สิ่งสุดท้าย ใช้เมล็ดมัน

หนักหกชั่ง เท่ากับ ยาทั้งหลาย
เคล้ากันไป เสกคาถา ที่อาถรรพ์
'สุพเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย' อัน
เป็นธรรมชั้น หฤทัย ในพุทธนาม

จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา
เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม
กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดรฯ

นั่งริมธาร

นั่งริมธาร ครุ่นวิจาร การเกิดดับ
เปลี่ยนปุบปับ สายธาร ทะยานไหล
เกิดไอเย็น ฟ่องฟุ้ง จรุงใจ
ดับร้อนได้ โดยไม่ต้อง ลองอาบกิน

อีกทางหนึ่ง ตรึงแล แน่ใจนัก
ถ้าใครผลัก ตกลง คงแดดิ้น
กระทบก้อน หินผา ใต้วาริน
แล้วจะสิ้น ชีพไป ในวังวน

มานึกดู เปรียบดั่ง สังสารวัฏฏ์
ดูผาดๆ น่ากระหวัด ในลาภผล
ที่ซ่อนอยู่ ในทุกข์ ปลุกใจคน
ให้ยอมทน ทุกข์ยาก บากบั่นไป

จนได้เกิด แก่ตาย ในวัฏฏะ
ไม่มีสะ ใจสร่าง อย่างไหนๆ
ใครมองเห็น จงระวัง ยั้งจิตใจ
อย่าให้ไพล่ พลัดตก นรกวน

เปิด-เปิด-เปิด


เปิด-เปิดตา: ให้รับแสง แห่งพระธรรม
ยิ่งมืดค่ำ ยิ่งเห็นชัด ถนัดถนี่
สมาธิมาก ยิ่งเห็นชัด ถนัดดี
นี่วิธี เปิดตาใจ ใช้กันมาฯ

เปิด-เปิดหู: ให้ยินเสียง สำเนียงธรรม
ทั้งเช้าค่ำ มีก้องไป ในโลกหล้า
ล้านล้านปี ฟังให้ชัด เต็มอัตรา
คือเสียงแห่ง สุญญตา ค่าสุดใจฯ

เปิด-เปิดปาก: สนทนา พูดจาธรรม
วันยังค่ำ อย่าพูด เรื่องเหลวไหล
พูดแต่เรื่อง ดับทุกข์ได้ โดยสัจจนัย
ไม่เท่าไร เราทั้งโลก พ้นโศกแลฯ

ปิด-ปิด-ปิด


ปิด-ปิดตา: อย่าสอดส่าย ให้เกินเหตุ
บางประเภท แกล้งทำบอด ยอดกุศล
มัวสอดรู้ สอดเห็น จะเป็นคน
เอาไฟลน ตนไป จนไหม้พอง;

ปิด-ปิดหู: อย่าให้แส่ ไปฟังเรื่อง
ที่เป็นเครื่อง กวนใจ ให้หม่นหมอง
หรือเร้าใจ ให้ฟุ้งซ่าน พาลลำพอง
ผิดทำนอง คนฉลาด อนาจใจ;

ปิด-ปิดปาก: อย่าพูดมาก เกินจำเป็น
จะเป็นคน ปากเหม็น เขาคลื่นไส้
ต้องเกิดเรื่อง เยิ่นเย้อ เสมอไป
ถ้าหุบปาก มากไว้ ได้แท่งทองฯ


อย่าช่างหัวมัน



อย่าบิ่นบ้า มัวแต่อ้าง ช่างหัวมัน
ถ้าเรื่องนั้น เกี่ยวกับเพื่อน มนุษย์หนา
ต้องเอื้อเฟื้อ ปฏิบัติ เต็มอัตรา
โดยถือว่า เป็นเพื่อนเกิด แก่เจ็บตาย

การช่วยเพื่อน เหมือนช่วย ตัวเราเอง
เมื่อจิตเพ่ง เล็งช่วย ทวยสหาย
ย่อมลดความ เห็นแก่ตัว ลงมากมาย
ทุกทุกราย อย่าเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน

เห็นแก่ตัว บางเบา ลงเท่าไร
ยิ่งเข้าใกล้ พระนิพพาน เห็นปานนั้น
รอดตัวได้ เพราะไม่มัว ช่างหัวมัน
จงพากัน ใคร่ครวญ ถ้วนทุกคนฯ

ช่างหัวมัน


จงยืนกราน สลัดทั่ว ช่างหัวมัน
ถ้าเรื่องนั้น นั้นเป็นเหตุ แห่งทุกข์หนา
อย่าสำออย ตะบอยจัด ไว้อัตรา
ตัวกูกล้า ขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย

เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง
ไปบวกเบ่ง ให้เห็นว่า จะฉิบหาย
เรื่องเล็กน้อย ตะบอยเห็น เป็นมากมาย
แต่ละราย รีบเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน

เมื่อตัวกู ลู่หลุบ ลงเท่าไร
จะเย็ยเยือก ลงไป ได้เท่านั้น
รอดตัวได้ เพราะรู้ใช้ 'ช่างหัวมัน'
จงพากัน หัดใช้ ไว้ทุกคนฯ


บ้าดี

ยิ่งทำดี จะยิ่งมี นรกมาก
ถ้าใจอยาก ดีเด่น เป็นเจ้าขรัว
ให้ผู้คน ทั้งผอง ต้องยอมกลัว
คือยอมตัว อยู่ใต้ ปัญญายง ;
ไม่ต้องการ มรรคผล ดลนิพพาน
คงต้องการ แต่ให้ เขาช่วยส่ง
ให้ลอยลม ล่วงไป จมไม่ลง
ต้องประสงค์ แต่เท่านี้: 'บ้าดี' เอยฯ

จริงซี่ !

จริงซี! เราบ้าบอก ธรรมกัน
เพราะเหตุ ที่ธรรมนำ โลกแล้
ห่างทุกข์ สบศุขทัน ใจอยาก
เป็นศุข ที่เที่ยงแท้ จุ่งเห็นฯ
ธรรม,ธรรม ธรรม,เท่านั้น ที่สมาน
โลกนี้ โลกหน้า เย็นยิ่งน้ำ
ใครคบ เสพธรรมฐาน คู่ชีพ
ตนสุข, เมีย,ลูก,ซ้ำ สุขตามฯ

กิเลสคุย

คุยเสียดี ที่แท้ แพ้กิเลส
น่าสมเพช เตือนเท่าไร ก็ไม่เห็น
ว่าเป็นทาส กิเลส อยู่เช้าเย็น
จะอวดเป็น ปราชญ์ไป ทำไมนา
ค้นธรรมะ หาทางออก อุ้มกิเลส
น่าสมเพช จริงๆ เที่ยววิ่งหา
ตำรานี่ ตำรานั่น สรรหามา
ได้เป็นข้า กิเลสไป สมใจเอยฯ

การงาน

อันการงาน คือค่า ของมนุษย์
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ
ไม่เท่าไร รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งจริง
ตัวการงาน คือตัวการ ประพฤติธรรม
พร้อมกันไป หลายส่ำ มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือนคน ฉลาดยิง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกเอยฯ

การงานทำให้ชีวิตสดใส



อันการงาน นั้นประเสริฐ ตรงที่สนุก
ยิ่งทำงาน ยิ่งเป็นสุข ทุกสถาน
ทำชีวิต ให้สดใส ใจเบิกบาน
ในการงาน ประจำวัน นั่นเองนา

เมื่ออย่างนี้ มีแต่คน วิมลจิต
เย็นสนิท ดวงใจ ไร้โทสา
เกิดสังคม ที่อุดม ด้วยเมตตา
อยากเรียกว่า ธัมมิกะ สังคมนิยม

ผลของงาน ล้นเหลือ เผื่อแผ่ทั่ว
สัตว์ทุกตัว ใหญ่น้อย พลอยสุขสม
ทั้งเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ได้ชื่นชม
โลกระดม สุขวาง ทางนิพพาน

การงานเป็นสิ่งที่น่ารัก

อันที่จริง การงาน นั้นน่ารัก
เมื่อยังไม่ รู้จัก ก็อางขนาง (คือไม่ชอบ)
ไม่รู้จัก ก็ปล่อยปละ แล้วละวาง
บ้างร้องคราง เมื่อรอหน้า ว่าเบื่อจริง

แต่ที่แท้ การงาน นั้นน่ารัก
สอนให้คน รู้จัก ไปทุกสิ่ง
ถ้ายิ่งทำ ยิ่งฉลาด ไม่พลาดยิง
ได้ตรงดิ่ง สิ่งอุกฤษฏ์ คือจิตเจริญ

การงานนี้ ดูให้ดี มันน่ารัก
เป็นการชัก ธรรมะมา น่าสรรเสริญ
คือมีสติ ฉันทะ ทมะเกิน
ครั้นหยุดเพลิน จิตก็วาง ทางนิพพาน.

การงานคือการปฏิบัติธรรม


อันการงาน คือคุณค่า ของมนุษย์
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ
ไม่เท่าไร ได้รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งจริง

เพราะการงาน เป็นตัวการ ประพฤติธรรม
กุศลกรรม กล้ำปนมา มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบคน ฉลาดยิง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกมา

คือการงาน นั้นต้องทำ ด้วยสติ
มีสมาธิ ขันติ มีอุตสาห์
มีสัจจะ มีทมะ มีปัญญา
มีศรัทธา และกล้าหาญ รักงานจริง.