หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

เรียนแบบคันถธุระ

คันถธุระ คือเรียนร่ำ พระคัมภีร์
ที่ร้อยกรอง กันเต็มที่ ยุคทีหลัง
เป็นมัดมัด ตู้-ตู้ ดูมากจัง
เรียนจนคลั่ง
เคลิ้มไคล้ ไปก็มี
ภาวนาว่า นางฟ้า ปิฏกไตร
จงผูกใจ ข้าฯไว้ ให้ถนัดถนี่
จะตายไป กี่ชาติ กี่ภพมี
ขอสมรส ด้วยวาณี ตลอดไป
เป็นการสืบ ศาสนา ปริยัติ
จะได้มี ปฏิบัติ ที่แจ่มใส
แต่ดูดู คล้ายจะมุด คุดอยู่ใน
ไม่อยากได้ พระนิพพาน สักท่านเดียวฯ

เรียนปรัชญา

เรียนอะไร ถ้าเรียน อย่างปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า ฟีโลโซฟี่ (Philosophy)
เรียนจนตาย
ก็ไม่ได้ พบวิธี
ที่อาจขยี้ ทุกข์ดับ ไปกับกร
เพราะมันเรียน เพื่อมิให้ รู้อะไร
ชัดลงไป ตามที่ธรรม- ชาติสอน
มัวแต่โยก โย้ไป ให้สั่นคลอน
สร้างคำถาม ป้อนต้อน รอบรอบวง
ไม่อาจจะ มีวิมุตติ เป็นจุดจบ
ยิ่งเรียนยิ่ง ไม่ครบ ตามประสงค์
เป็นเฮโรอีน สำหรับปราชญ์ ที่อาจอง
อยู่ในกรง ปรัชญา น่าเอ็นดูฯ

เรียนธรรมะ

เรียนธรรมะ อย่าตะกละ ให้เกินเหตุ
จะเป็นเปรต หิวปราชญ์ เกินคาดหวัง
อย่าเรียนอย่าง ปรัชญา มัวบ้าดัง
เรียนกระทั่ง ตายเปล่า ไม่เข้ารอย

เรียนธรรมะ ต้องเรียน อย่างธรรมะ
เรียนเพื่อละ ทุกข์ใหญ่ ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์ ที่มีจริง ยิ่งเข้ารอย
ไม่เลื่อนลอย มองให้เห็น ตามเป็นจริง

ต้องตั้งต้น การเรียน ที่หูตา ฯลฯ
สัมผัสแล้ว เกิดเวทนา ตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยาก เกิดผู้อยาก เป็นปากปลิง
"เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ" ฯ

เราถือศาสนาอะไรกันแน่?

ศาสนา โบสถ์วิหาร การวัดวา
ศาสนา คือพระธรรม คำสั่งสอน
ศาสนา ประพฤติธรรม ตามขั้นตอน
ศาสนา พาสัตว์จร จวบนิพพาน
ศาสนา เนื้องอก พอกพระธรรม
ศาสนา น้ำครำ ของเป็ดห่าน
ศาสนา ภูตผี พานิชการ
ศาสนา วิตถาร กวนบ้านเมือง
ศาสนา ใหม่ใหม่ ร้ายกว่าเก่า
ศาสนา ของพวกเจ้า โจรผ้าเหลือง
ศาสนา ปัจจุบัน พ้นการเมือง
ศาสนา มลังเมลือง เมืองคนเย็นฯ

ติดตำราจะติดตัง


จงรักษา ดวงใจ ให้ผ่องแผ้ว
อย่าทิ้งแนว การถือ คือเหตุผล
อย่าถือแต่ ตามตำรา จะพาตน
ให้เวียนวน ติดตัง นั่งเปิดดู

อย่าถือแต่ ครูเก่า เฝ้าส่องบาตร
ต้องฉลาด ความหมาย สมัยสู
อย่ามัวแต่ อ้างย้ำ ว่าคำครู
แต่ไม่รู้ ความจริง นั้นสิ่งใด

อย่ามัวแต่ ถือตาม ความนึกเดา
ที่เคยเขลา เก่าแก่ แต่ไหนๆ
ต้องฉลาด ขูดเขลา ปัดเป่าไป
ให้ดวงใจ แจ่มตรู เห็นลู่ทางฯ

พระเจ้าองค์เดียว

พระศาสนา สัมพันธ์ คือมรรคา
ที่ชักพา นำมนุษย์ สู่จุดหมาย
เพื่อมนุษย์ ได้เป็นสุข ทุกนิกาย
เราทั้งหลาย ชวนกันมา ปรึกษากัน

พระเจ้าแท้ มีแต่ พระองค์เดียว
ทางจึงมี แต่ทางเดียว เป็นแม่นมั่น
เป็นทางตรง มุ่งไป สู่ไกวัลย์
เป็นนิรัน- ดรสุข แก่ทุกคน

ไม่มีข้อ ขัดแย้ง แบ่งพวกพรรค
มนุษย์รัก ร่วมสุข ทุกแห่งหน
นี่แหละหนา พวกเรามา รวมกมล
แห่งปวงชน เพื่อบูชา พระเจ้าเดียว

การเรียกชื่อ ต่างกัน นั้นไม่แปลก
แต่เนื้อใน ไม่อาจแยก เป็นส่วนเสี้ยว
คือธรรมธาตุ หนึ่งแน่ เป็นแท้เทียว
ทุกคนเหนี่ยว เป็นที่พึ่ง จึงรอดเอยฯ

ปฏิบัติเพื่อความสะอาด

อาบอะไร ล้างกันใหญ่ ดูให้ดี
ดูล้างกัน เต็มที่ ไม่มีเฉย
ไม่น่าดู นั่นแหละดู ให้ดีเวย
ขอเฉลย อรรถอ้าง ล้าง "ตัวกู"

อาบที่หนึ่ง นั่นล้าง ส่วนร่างกาย
ย่อมทำได้ โดยขยัน หมั่นเช็ดถู
ภาพพวกเซ็น อาบเป็น ตัวอย่างดู
ล้างตัวกู กันอย่างหนัก ด้วยรักทำ

อาบที่สอง จองล้าง ไล่กิเลส
ที่เป็นเหตุ เผลอไพล่ ไถลถลำ
เที่ยวยึดนั่น ยึดนี่ ที่กอบกำ
เอามาทำ เป็น "ตัวกู" และ "ของกู"

เอาน้ำคือ "ธรรมะ" เข้าชะล้าง
ให้สว่าง สะอาดสิ้น สงบอยู่
อะไรมา ไม่ยึดมั่น ไม่ขันคู
"สิ้นตัวกู" เป็นวิมุตติ ดีสุดดี

ยามอาบล้าง ท่าทาง ไม่น่าดู
อาบเสร็จแล้ว สวยหรู ชูศักดิ์ศรี
ยามชะล้าง แสนยาก ลำบากมี
ลุถึงที่ สุขล้วน ชวนชมเอยฯ

สันติภาพของคนสมัยนี้

อยู่พร้อมหน้า ยืนยัน สันติภาพ
สร้างอาวุธ ไว้ปราบ กันลับหลัง
ปากถือศีล มือถือสาก มีฉากบัง
ต้องวุ่นวาย ตึงตัง ทั้งตาปีฯ

อริยมรรคมีองค์แปด


พญานาค หกเศียร เฉวียนฉวัด
เที่ยวขบกัด อารมณ์หก อยู่ผกผัน
ตาหูจมูก ลิ้นกายใจ ไล่พัลวัน
รูป เสียง กลิ่น รส ฉิวกระสัน ธรรมารมณ์

พญาครุฑ ยุดขยำ กำนาคไว้
มนุษย์ผ่าน ไปได้ โดยเหมาะสม
ด้วยเรือฝูง แปดลำ ทวนน้ำลม
ในธารธรรม งามอุดม สะดวกดี

มีมนุษย์ ถึงก่อน วอนเรียกขาน
ให้ทุกท่าน ตามมา อย่าผันหนี
ขอจงช่วย กันและกัน ให้ทันที
ถึงบุรี นิรวาณ ก่อนการตายฯ

โทสะ ศัตรูแห่งศานติ

ดนตรีชีพ รื่นสำราญ ชื่นบานนัก
แล้วก็มัก ถูกทำลาย ให้หายสูญ
เพราะโทสะ สุมเผา เป็นเค้ามูล
ต้องอาดูล ชีพรส หมดดนตรีฯ

โลภะ ศัตรูแห่งศานติ

สมัยนี้ ละโมบกล้า อย่างป่าเถื่อน
จะรวบเดือน ดาวใส่ ในกระเป๋า
ศิวิไลซ์ ล้วนแต่หมาย ว่าจะเอา
โลกของเรา ย้อนกลับหลัง ยังป่าเอยฯ

ราคะ ศัตรูแห่งศานติ

พอราคะ กลัดกลุ้ม ห่อหุ้มจิต
ตาก็พิศ เพ่งแต่หน้า รากษศี
ไม่เห็นส่วน อื่นใด เหมือนไม่มี
เห็นนาคี เป็นมัจฉา น่ากอดรัดฯ

ภยะ ศัตรูแห่งศานติ

โลกทุกวัน นี้ยิ่งมี สิ่งที่กลัว
จนขวัญแยก จากตัว น่าขบขัน
ยิ่งก้าวหน้า ยิ่งระแวง แคลงใจกัน
ทุกคืนวัน เป็นโรคกลัว ทั่วกันเอยฯ

พุทธรูปไม้

"เอาพุทธรูปไม้ สุมไฟ ทำไมเจ้า"
"อ๋อ,เพราะเรา ควรจะได้ พระธาตุนั้น"
"พุทธรูปไม้ มีพระธาตุ อย่างไรกัน"
"ถ้าอย่างนั้น ควรเผา เพื่อผิงไฟ"
ท่านสมภาร สว่างโล่ง โพลงในจิต
ได้พินิจ เห็นตรง หมดสงสัย
หยุดผยอง อย่างก่อนมา หยุดว่าใคร
เพราะต๋านเสี่ย หยอดตาให้ หายบอดเอยฯ

จงรู้จักตัวเอง

"จงรู้จัก ตัวเอง" คำนี้หมาย
ว่าค้นพบ แก้วได้ ในตัวท่าน
หานอกตัว ทำไม ให้ป่วยการ
ดอกบัวบาน อยู่ในเรา อย่าเขลาไป
ในดอกบัว มีมณี ที่เอกอุตม์
เพื่อมนุษย์ ค้นหา มาให้ได้
'การตรัสรู้ หรือรู้ สิ่งใดใด
ล้วนมาจาก ความรู้ ตัวสูเอง'ฯ

ยอดนักรบ

นักรบแบก เครื่องรบ อย่างครบครัน
พวกชาวบ้าน แบกบ้าน ทรัพย์สินหลาย
เอาจิตแบก งงงัน กันจนตาย
เพราะมั่นหมาย จึงมีแบก, แปลกไหมคุณ?
ถ้าไม่มุ่ง หมายมั่น สิ่งอันใด
ก็เท่ากับ ไม่แบกอะไร ให้หันหุน
แบกอะไร ก็ไม่แปลก เท่าแบกบุญ
ถึงเซซุน ไม่รู้ว่า หนักอะไร
ได้อะไร พาอะไร ไม่ต้องแบก
รู้จักแยก เสียจากกัน อย่าหวั่นไหว
กายของกาย จิตของจิต: ใช่ของใคร
อะไรอะไร เกี่ยวข้องกัน ฉันของกลาง
แม้แบกอยู่ ใช้อยู่ หรือหินอยู่
จิตก็รู้ วางไว้ ไร้ยุ้งฉาง
สำหรับใส่ ของ "กู" รู้ปล่อยวาง
มีชีวิต ก็มีอย่าง ไม่แบก "กู" ฯ

แม่น้ำคด น้ำไม่คด

แม่น้ำคด ส่วนน้ำ นั้นไม่คด
ไม่แกล้งปด ดูให้ดี มีเหตุผล
กายกับใจ ไม่ลามก ไม่วกวน
แต่กิเลส แสนกล นั้นเหลือคด

จิตล้วนล้วน นั้นเป็น ประภัสสร
กิเลสจร ครอบงำ ทำยุ่งหมด
กิเลสเปรียบ ลำน้ำ ที่เลี้ยวลด
จิตเปรียบน้ำ ตามกฏ ไม่คดงอ

อันจิตว่าง มีได้ ในกายวุ่น
ในน้ำขุ่น มีน้ำใส ไม่หลอกหนอ
ในสงสาร มีนิพพาน อยู่มากพอ
แต่ละข้อ งวยงง ชวนสงกา

พระตรัสให้ ตัดป่า อย่าตัดไม้
ไม่เข้าใจ ตัดได้ อย่างไรหนา
รู้แยกน้ำ จากแม่น้ำ ตามว่ามา
จึงนับว่า ผู้ฉลาด สามารถเอยฯ

จากอนันตะสู่อนันตะ

จาก "อนันต์" สู่ "อนันต์" นั้นเห็นยาก
คนส่วนมาก งันงง ตรงความหมาย
"ไม่สิ้นสุด ทั้งฝ่ายเกิด และฝ่ายตาย"
ภาษาคน ไม่ขวนขวาย มาฟังยิน

ข้อนี้ต้อง เปรียบเทียบ กับเสียงระฆัง
คือมันดัง ออกมาได้ ไม่รู้สิ้น
ดังออกมา เรื่อยเรื่อยไป ได้อาจิณ
ก็ไม่เคย เต็มถิ่น อากาศกาล

เหมือนสังขตะ ธรรมธาตุ ปรุงแต่งกัน
เนืองอนันต์ มิรู้สิ้น สายสังขาร
ปรุงออกมา นานนับ กี่กัปป์วาร
อวสานต์ นั้นไม่มี ที่เหตุมูล

แม้ธรรมธาตุ อสังขตะ สุญญตา
เป็นอนันต์ เสมอมา ไม่ขาดสูญ
เป็นที่ดับ แห่งสังขาร แต่กาลบูรพ์
ไม่เต็มนูน, เพราะอนันต์ นั่นเลนาฯ

ทะเลไฟ

เรือของธรรม แล่นฝ่า ทะเลไฟ
เรือของคน อย่างไร ยังไม่แน่
เห็นทีจะ ขี้ขลาด และอ่อนแอ
จึงต้องแพ้ แก่เนื้อหนัง นั่งเฝ้าดู

จะออกไป นอกโลก ต้องฝ่าไฟ
จะหมดทุกข์ ต้องไป เหนือสิ่งคู่
จะพ้นตาย ต้องพราก จากตัวกู
เผากิเลส ต้องอยู่ ใจกลางไฟ

คนเขลาเขลา เหมาเหมา ไปตามเขลา
ไม่อยากเข้า ใกล้ไฟ เพราะกลัวไหม้
ไฟของธรรม มีไว้ เพื่อดับไฟ
ที่ไหม้ใจ ของสัตว์ ในบัดดล

ตบะธรรม กรรมฐาน เปรียบปานไฟ
เผากิเลส สิ้นไป เหลือมรรคผล
อันไฟธรรม มีไว้ ดับไฟคน
ดับแล้วพ้น ทะเลไฟ ฝ่าไปเอยฯ

ตัวกูกับตัวกู

อัน "ตัวกู" "ตัวสู" มิได้มี
แต่พอโง่ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายโง่ "กู"~"สู" ก็หายไป
พอโง่ใหม่ โผล่ใหม่ ดูให้ดี

แต่ละข้าง ต่างยึด ว่า "ตัวกู"
จึงเกิดการ ต่อสู้ กันอย่างผี
ต่างหมายมั่น แก่กัน ฉันไพรี
ทั้งเปิดเผย ลับลี้ มีทั่วไป

ที่ด้อยกว่า สู้ว่ากู ก็มีดี
ที่เด่นกว่า ข่มขี่ เขาเข้าไว้
ที่พอกัน กันท่า ไม่ว่าใคร
ล้วนแต่ใคร่ โด่งเด่น เป็นธรรมดา

เอาพระธรรม กวาดล้าง อย่างไม้กวาด
สำหรับฟาด หัวสัตว์ ที่ข้างฝา
ตกกระเด็น เป็นเหยื่อ แก่ไก่กา
ที่เก่งกว่า คืออย่าโง่ ให้โผล่เอยฯ

ไส้เดือนเขียนจดหมายถึงมนุษย์

รอยไส้เดือน เกลื่อนไป ในผิวดิน
เป็นลวดลาย หลายระบิล หลายท่วงท่า
มีความหมาย ว่ากระไร ใครสงกา
หรือเห็นว่า ไร้สิ่ง น่าสนใจ

คือจดหมาย ไส้เดือน เตือนมนุษย์
ไม่รู้สิ้น รู้สุด มาแต่ไหน
ทั้งคืนวัน ขยันเขียน เวียนทำไป
มนุษย์อ่าน หรือไม่ ไม่อาวรณ์

มันพร่ำบอก พร่ำสอน พร่ำวอนว่า
พร่ำพรรณนา ให้ระวัง ให้สังหรณ์
ว่าสรรพสิ่ง เปลี่ยนไป ไม่ถาวร
ทุกทุกตอน อนิจจัง อนัตตา

มันให้อัต- ถาธิบาย หลายแสนอย่าง
อุทาหรณ์ ต่างต่าง ครบทุกท่า
รอยไส้เดือน เกลื่อนทั่ว พสุธา
ก็เพราะว่า ไส้เืดือนรัก คนนักเอยฯ

ฝนอิฐเป็นกระจกเงา

ศิษย์วอนถาม อาจารย์ ฐานร้อนใจ
'ทำอย่างไร ไปนิพพาน อาจารย์ขา'
'อ๋อมันง่าย นี่กระไร บอกให้นา
คือคำว่า ฝนอิฐเป็น กระจกเงา'

'อาจารย์ครับ เขาคงว่า เราบ้าใหญ่
แม้ฝนไป ฝนไป ก็ตายเปล่า'
'นั่นแหละเน้อ มันสอนให้ แล้วไม่เบา
ว่าให้เรา หยุดหา หยุดบ้าไป

ไม่มีใคร ฝนอิฐ เป็นกระจก
ไม่ต้องยก มากล่าว เข้าใจไหม
นิพพานนั้น ถึงได้ เพราะไม่ไป
หมดตนไซร้ ว่างเห็น เป็นนิพพาน

ถ้าฝนอิฐ ก็ฝนให้ ไม่มีเหลือ
ไม่มีเชื้อ เวียนไป ในสงสาร
ฝนความวุ่น เป็นความว่าง อย่างเปรียบปาน
ฝนอิฐด้าน ให้เป็นเงา เราบ้าเอง' ฯ

จิตว่างได้ยินหญ้าพูด

พระพุทธะ ตรัสรู้ จิตอยู่ว่าง
ได้ยินสิ่ง ทุกอย่าง แถลงไข
เหมือนมันฟ้อง ตัวเอง เซ็งแซ่ไป
ว่าไม่มี สิ่งไหน น่ายึดเอา

มาเพื่อเป็น ตัวกู หรือของกู
อย่าหลงตู่ มันเข้า เพราะความเขลา
เอาของเป็น อนัตตา มาเป็นเรา
จะต้องเศร้า โศกระบม ตรมใจแรง

แม้กรวดดิน หินไม้ และใบหญ้า
ล้วนแต่ส่ง เสียงจ้า ทุกหัวระแหง
คนจิตวุ่น ไม่เข้าใจ ไม่ระแวง
ว่าทุกสิ่ง ร้องแสดง บทพระธรรม

ครั้นจิตว่าง จะได้ยิน แม้ใบหญ้า
มันปรึกษา ข้อความ ที่งามขำ
ว่า 'ทำไฉน สัตว์ทั้งหลาย จะร่ายรำ
ด้วยจิตว่าง เพราะวางธรรม ทั้งปวงเอย' ฯ

ผู้ดับไม่เหลือ

อย่าเข้าใจ ไปว่า ต้องเรียนมาก
ต้องปฏิบัติ ลำบาก จึ่งพ้นได้
ถ้ารู้จริง สิ่งเดียว ก็ง่ายดาย
รู้ดับให้ ไม่มีเหลือ เชื่อก็ลอง

เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง
อย่าพรั่นพรึง หวาดไหว ให้หม่นหมอง
ระวังให้ ดีดี 'นาทีทอง'
คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดได้ทัน

ถึงนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด
ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน
สารพัน ไม่ยึดครอง เป็นของเรา

ตกกระได พลอยกระโจน ให้ดีดี
จะถึงที่ มุ่งหมาย ได้ง่ายเข้า
สมัครใจ ดับไม่เหลือ; เมื่อไม่เอา
ก็ดับ "เรา" ดับตน ดลนิพพาน


ยิ่งคัดลอกยิ่งเลอะเทอะ

พระคัมภีร์ ยังมิใช่ องค์พระธรรม
มีไว้เพียง อ่านจำ เมื่อศึกษา
ครั้นนานเข้า คัดลอก กันสืบมา
เพียงแต่เขียน อักขรา ให้คล้ายกัน

คัดพลาง ฉงนพลาง ช่างอึดอัด
ตัวไม่ชัด เดาไป คล้ายในฝัน
ยิ่งเป็นปราชญ์ ยิ่งแก้ไป ได้ไกลครัน
ยิ่งแก้มัน ก็ยิ่งเลอะ ไม่เจอะจริง

ส่วนพระธรรม ล้ำเลิศ ประเสริฐแท้
ไม่มีใคร อาจแก้ ให้ยุ่งขิง
ธรรมของใคร ใครเห็น ตามเป็นจริง
มิใช่สิ่ง คัดลอก หรือบอกกัน

ทั้งมิอาจ ถ่ายทอด วิธีใด
มีแต่การ จัดใจ ให้สบสันติ์
ไม่มีทาง ซื้อขาย หรือให้ปัน
หรือลอกกัน ให้เลอะไป ไม่หยุดเอยฯ