หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่ง
เพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆ
จนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาท
การเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจ
เพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบ
โดยสมควรแก่การกระทำของตน
ความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้อง
และมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึด
และยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัว
ทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้
และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้น
ไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด

ไหว้พระพุทธรูป

อาจารย์ขา ก้อนศิลา บ้านข้าเจ้า
ลุกขึ้นเต้น เร่าเร่า น่าเลื่อมใส
ทำพุทธรูป กันเถิดหนา เลิศกว่าใคร
"อ๋อทำได้!" แน่หนา ท่านอาจารย์

"ถ้าอย่างนั้น ไม่ได้แล้ว ไม่ได้แน่
เหตุว่าแก สงสัย ไม่ฉาดฉาน
ขืนทำไป ไม่มั่น มันป่วยการ
พุทธรูป ตายด้าน เพราะลังเล

ถ้าในใจ เชื่อมั่น มันก็ได้
ถ้าในใจ สงสัย มันก็เขว
เป็นพุทธจริง ตรงที่ใจ ไม่เกเร
มันไหลเท ออกจากใจ ข้างในเรา

พุทธะจริง ข้างในมี ดีอยู่แล้ว
พุทธรูป หินหรือแก้ว มักพาเขลา
มีพุทธจริง แล้วจะวิ่ง เที่ยวหาเอา
อะไรเล่า มาหมอบไหว้ ให้ยุ่งเอย" ฯ

ดอกไม้จัดคน

คนนั่งจัด บุบผชาติ ก็คาดคิด
ว่าพิชิต มันได้ ตามใจหวัง
ความคิดนี้ ถูกดี แล้วหรือยัง
มันจัดใคร เข้าให้มั่ง หยั่งคิดดู

คิดดูเถิด พวกถนัด จัดมาเลย
ลิงโลดใจ ว่าจัด ได้สวยหรู
ใครจัดใคร แย่ไป ให้นึกดู
อย่าหลงรู้ แต่ว่าตน จัดมาลัย

ดูให้ดี พวกคน หลงดอกไม้
มันมัดท่าน ใจไข้ อยู่ไหวไหว
ในทันที ที่คนจัด ดอกไม้ไป
มันรวบใจ คนมัด ในบัดดล

ดอกไม้จัด คนบ้าง อย่างภาพนี้
คือพวกที่ หลงมัน ทุกแห่งหน
เด็กผู้ใหญ่ ไพร่ผู้ดี มีหรือจน
ไม่เคยพ้น บุบผชาติ คาดมัดใจฯ

เสียงมือตบข้างเดียว

มือฉันตบ ข้างเดียว ส่งเสียงลั่น
มือท่านตบ สองข้าง จึ่งดังได้
เสียงมือฉัน ดังก้อง ทั้งโลภัย
เสียงมือท่าน ดังไกล ไม่กี่วา

เสียงความว่าง ดังกลบ เสียงความวุ่น
ทั้งมีคุณ กว่ากัน ทางหรรษา
เสียงสงบ กลบเสียง ทั้งโลกา
หูของข้า ได้ยิน แต่เสียงนั้น

เสียงของโลก ดังเท่าไร ไม่ได้ยิน
เพราะเหตุวิญ~ ญาณรับ แต่เสียงนั่น
เป็นเสียงซึ่ง ผิดเสียง อย่างสามัญ
เป็นเสียงอัน ดังสุด จะพรรณนา

มือข้างเดียว ตบดัง ฟังดูเถิด
แสนประเสริฐ คือจิต ไม่ไฝ่หา
ไม่ยึดมั่น อารมณ์ใด ไม่นำพา
มันร้องท้า เย้ยทุกข์ ทุกเมื่อเอยฯ

เสียงขลุ่ยกลับมากอไผ่

"เสียงขลุ่ยหวน กลับมา หากอไผ่"
จงคิดให้ เห็นความ ตามนี้หนอ
ว่าไผ่ลำ ตัดไป จากไผ่กอ
ทำขลุ่ยพอ เป่าได้ เป็นเสียงมา

เสียงก็หวน กลับมา หาไผ่กอ
เป่าเท่าไร กลับกัน เท่านั้นหนา
เหมือนไอน้ำ จากทะเล เป็นเมฆา
กลายเป็นฝน กลับมา สู่ทะเล

เหมือนตัณหา พาคน ด้นพิภพ
พอสิ้นฤทธิ์ ก็ตะหลบ หนทางเห
วิ่งมาสู่ แดนวิสุทธิ์ หยุดเกเร
ไม่เถล ไถลไป ที่ไหนเลย

"อันความวุ่น วิ่งมา หาความว่าง"
ไม่มีทาง ไปไหน สหายเอ๋ย
ในที่สุด ก็ต้องหยุด เหมือนอย่างเคย
ความหยุดเฉย เป็นเนื้อแท้ แก่ธรรมแลฯ

พระองค์อยู่ที่หลังม่าน

ดูให้ดี พระองค์มี อยู่หลังม่าน
อยู่ตลอด อนันตกาล ท่านไม่เห็น
เฝ้าเรียกหา ดุจเห่าหอน ห่อนหาเป็น
ไม่รู้เช่น เชิงหา ยิ่งหาไกล

เพียงแต่แหวก ม่านออก สักศอกหนึ่ง
จะตกตะลึง ใจสั่น อยู่หวั่นไหว
จะรู้จัก หรือไม่ ไม่แน่ใจ
รู้จักได้ จักปรีดี "อยู่นี่เอง"

เชิญพวกเรา เอาภาร "การแหวกม่าน"
งดงมงาย ตายด้าน หยุดโฉงเฉง
ทำลายล้าง อวิชชา อย่ามัวเกรง
ว่าไม่เก่ง ไม่สวย ไม่รวยบุญฯ

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

มีชีวิต มีให้ดี ต้องมีชาติ
ชาติวิลาส นั้นต้องมี ศรีศาสนา
สองนั้นจะดี ต้องมี ธรรม-ราชา
เป็นหัวหน้า และตัวอย่าง ทุกอย่างไป

ประเทศชาติ เหมือนร่างกาย ให้คิดดู
ไม่มีกาย ใจจะอยู่ อย่างไรได้
ศาสนานั้น เหมือนใจ ฝ่ายนามกาย
ไม่มีใจ ก็เหมือนตาย ซากก่ายนอน

มหากษัตริย์ เหมือนสติ และปัญญา
ที่บัญชา กายและใจ ให้เป็นสมร
ร่วมกันไป คล้ายกับงาน สหกรณ์
ไม่ม้วยมรณ์ ไทยเจริญ เกินเปรียบเอยฯ

ภาระแห่งเจ้าตนหลวง

เจ้าตนหลวง ห่วงประชา เป็นภาระ
ดังจอมพระ ห่วงสัตว์ ในสงสาร
เจ้าตนหลวง ห่วงชาติ ราชการ
ดั่งสมภาร ห่วงวัด สมบัติกลาง
เจ้าตนหลวง ยังห่วง ศาสนา
เพื่อไพร่ฟ้า ฟูธรรม พร่ำสะสาง
เจ้าตนหลวง ห่วงสืบ พระวงศ์,วาง~
ทายาทอย่าง ก่อนมา ภาระเอยฯ

ศัตรูคือผู้จู่มาสอบไล่

อันศัตรู คือผู้จู่ มาสอบไล่
ให้รู้ได้ ว่าเรามี ดีเท่าไหน
หรือดีแต่ จะโกรธยืน เป็นฟืนไฟ
บังคับใจ ไว้ไม่อยู่ สักครู่เดียว

อันศัตรู คือผู้สรร สวรรค์ให้
ตรงที่ได้ มีจิต คิดเฉลียว
ว่าอดกลั้น นั่นแหละนะ เป็นพระเทียว
ไม่อด,เลี้ยว ไปเป็นมาร พล่านนรก

อันศัตรู คือผู้สอน สัจจธรรม
ว่าอาฆาต นั้นคือน้ำ สกปรก
อย่าเก็บไว้ ในใจ ให้ใจฟก
จะเวียนวก ว่ายสงสาร นานนักเอย

เหตุฉะนั้น ศัตรู คือผู้ให้
แต่กลายเป็น ผู้ร้าย เหตุไรเหวย
เพราะผู้รับ รับไม่เป็น อย่างเช่นเคย
ถ้ารับเป็น พวกเราเอ๋ย หมดศัตรูฯ

มีโดยไม่ต้องเป็นของกู


ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข
อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน
มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน
ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา

เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู
มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า
อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา
มันครึกว่า "กู-ของ-กู" อยู่ร่ำไป

จะหามา มีไว้ ใช้หรือกิน
ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้
โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ
ผูกยึดไว้ ว่า "ตัวกู" หรือ "ของกู"ฯ

จงรู้จักตัวเอง


"จงรู้จัก ตัวเอง" คำนี้หมาย
มีดีร้าย อยู่เท่าไร เร่งไขขาน
ข้างฝ่ายดี มีไว้ ในดวงมาน
ข้างฝ่ายชั่ว รีบประหาร ให้หมดไป

จงรู้จัก ตัวเอง คำนี้หมาย
ว่าในกาย มีกิเลส เป็นเหตุใหญ่
จึงสาระแน แต่จะทำ บาปกรรมไกล
ต้องควบคุม มันไว้ ให้รักบุญ

จงรู้จัก ตัวเอง คำนี้หมาย
สังขารไร้ ตนตัว มัวแต่หมุน
ไปตามเหตุ ปัจจัย ที่ไส-รุน
พ้นบาปบุญ ชั่วดี มีนิพพานฯ

สิ่งที่รู้จักยากที่สุด


สิ่งที่รู้จัก ยากที่สุด กว่าสิ่งใด
ไม่มีสิ่ง ไหนไหน ได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือ ตัวเอง หรือตัวเรา
ที่คนเขลา หลงว่ากู รู้จักดี

ที่พระดื้อ เณรดื้อ และเด็กดื้อ
ไม่มีรื้อ มีสร่าง อย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้ เรื่องตัวกู มันไม่มี
หรือมีอย่าง ไม่มี ที่ถูกตรง

อันตัวกู ของกู ที่รู้สึก
เป็นตัวลวง เหลือลึก ให้คนหลง
ส่วนตัวธรรม เป็นตัวจริง ที่ยิ่งยง
หมดความหลง รู้ตัวธรรม ล้ำเลิศตนฯ

รักสงบ

รักสงบ จงลืม ซึ่ง "ตัวกู"
และลืมทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่;
มีสติ ปัญญา และปราณี
หน้าที่ใคร
ทำให้ดี; เท่านี้เอยฯ

มีอยู่แล้ว

ขณะใด จิตไม่ มี "ตัวกู"
นิพพานก็ ปรากฏอยู่ ณ จิตนั่น
พอ "ตัวกู" เกิดได้ ในจิตนั้น
สังสารวัฏฏ์ ก็พลัน ปรากฏแทนฯ

สหายเอ๋ย!

สหายเอ๋ย! "ตัวเรา" มิได้มี
แต่พอเผลอ "ตัวเรา" มี ขึ้นมาได้
;พอหายเผลอ "ตัวเรา" ก็หายไป
หมด "ตัวเรา" เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ย! จงถอน ซึ่ง "ตัวเรา"
และถอนทั้ง "ตัวเขา" อย่างเต็มที่
ให้มีแต่ ปัญญา และปราณี
อย่าให้มี "เรา~เขา" เบาเหลือเอยฯ